วิวัฒนาการของเจติยสถานทรงปรางค์ในสยามประเทศ
พระปรางค์เป็นโบราณสถานประเภทสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งให้เป็นศาสนาสถาน โดยเฉพาะจะพบทางภาคกลางและทางภาคเหนือ พบสูงขึ้นไปถึงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ส่วนภาคใต้พบที่เพชรบุรีเป็นที่สุด การที่อาณาบริเวณตั้งแต่เหนือจรดใต้ดังกล่าวมานี้พบปรางค์เป็นพระมหาะตุหลักของวัดแทนที่จะเป็นพระสถูปเจดีย์แบบที่วิวัฒนาการจากสัญจิเจดีย์ ก็เพราะว่าอาณาบริเวณภาคกลางนี้ อยู่ภายในรัศมีที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปวัฒนธรรมเขมร โดยเฉพาะนับตั้งแต่อิทธิพลของศิลปะบายนแผ่ขยายตัวเข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ศิลปะบายนเป็นศิลปะของพุทธศาสนามหายานฝ่ายวัชรยานเป็นพุทธตันตริก ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครองอำนาจของอาณาจักรนครหลวงที่เขมร ในสมัยนั้นขอมได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบงำทั้งดินแดนที่รบสูงของไทยและบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘
ขอมได้ส่งอิทธิพลทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรมแก่ประเทศบ้านเมืองใกล้เคียงโดยรอบ จึงไม่แปลกอะไรที่พุทธศาสนามหายานได้เบิกบานรุ่งเรืองอย่างสุดขีดในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกัน
สำหรับประเทศไทยนั้น ศิลปะอู่ทองและศิลปะลพบุรี น่าจะเป็นศิลปะของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ได้รับอิทธิพลจากพระนครหลวงของขอมโดยตรง

เดิมทีเดียวนั้น ขอมหรือเขมรนับถือฮินดู ทั้งฝ่ายไศวนิกายและไวษนนิกาย เคยชินต่อการสร้างปรางค์เป็นเทวาลัย โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียภาคใต้ ศิลปะการสร้างปรางค์รุ่นเก่าของขอมมีให้เห็นที่พิมาย พนมรุ้ง นครวัด และปรางค์จำนวนมากในจังหวัดสุรินทร์ แต่ต่อมาเมื่อขอมมานับถือพุทธศาสนามหายารอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อันเปลี่ยนโฉมหน้าจากอาณาจักรลิทธิฮินดูมาเป็นพุทธมหายาน จึงทำให้ขอมซึ่งแต่ก่อนเคยต่อสร้างปรางค์เมวาลัยมาตลอด กลับกลายมาเปลี่ยนสร้างพุทธสถานโดยกะทันหัน ทำให้ขอมกลับตัวไม่ทันจึงได้ใช้แบบอย่างของฮินดูเดิมที่สร้างปรางค์เทวาลัยเป็นศาสนสถานมาเป็นวัดวาอารามทางพุทธ โดยเอาปรางค์มาเป็นหลักเช่นพระธาตุแทนสถูปเจดีย์ ดังเราจะเห็นแบบอย่างจำนวนมาก เช่น ปรางค์ที่กู่ฤาษีที่ร้อยเอ็ด ปราสาทกำแพงน้อยศรีสะเกษ ปราสาทพรหมทัตที่พิมาย ปราสาทหินพนมวัน นครราชศรีมา ปราสาทบ้านแดง มหาสงครามปราสาทปรางค์สามยอด ลพบุรี ปรางค์วัดกำแพงแก้วแลงที่เพชรบุรี และปรางค์กู่สันตรัตน์ที่มหาสรคาม เป็นต้น
ปรางค์รุ่นแรกของขอมที่สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จะตั้งบนดินเตี้ยๆ ที่หน้าปราสาท หรือเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบารายเข้าใจว่าคงจะอาศัยมูลเนินดินจากการขุดสระน้ำมาเป็นเนินสร้างปราสาท หันหน้าปราสาทไปทางทิศตะวันออกตัวปรางค์อยู่กลางหรือค่อนไปข้างท้าย มีกำแพงศิลาสี่เหลี่ยมล้อมรอบ บางแห่งจะมีวิหารศิลาเล็กๆ อยู่ภายในกำแพงศิลานั้นด้วย แต่คงเป็นอาณาบริเวณพุทธาวาสแคบๆ ไม่กว้างขวางเท่าไรนัก วัดมหายานแบบขอมเท่าที่พบในภาคอีสาน มีแบบแปลนเป็นเช่นดังที่ว่านี้ทั้งสิ้น
ต่อมาเมื่อคนไทย ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เปลี่ยนใจมานับถือพุทธศาสนามหายาน คงนำแบบแผนของสถาปัตยกรรมของชาวพุทธ โดยเอาปรางค์มาทำพระธาตุอยู่ตรงกลาง แล้วมาสร้างวิหารใหญ่อยู่ภายในบริเวณพุทธสถาน มีประตูใหญ่ เข้าทางด้านหน้าแค่ประตูเดียวหรือบางทีอาจจะมีทางเข้าด้านหน้าสองประตู เพราะว่าวัดพุทธศาสนาที่สร้างโดยฝีมือการช่างแบบขอมนี้ ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลารอบองค์ปรางค์เท่านั้น อย่างกว้างที่สุดคือกู่สันตรัตน์ ซึ่งไม่สูงใหญ่โตนัก คนอีสานจึงเรียกกู่ชนิดนี้ว่า กู่ฤาษี สำหรับบริเวณเขตสังฆาวาสอันเป็นที่อยู่ของสงฆ์เข้าใจว่าทำด้วยไม้ทั้งหมด ในสมัยต่อมาเราจึงไม่ปรากฏซากให้เห็น ด้วยภายหลังคงถูกไฟป่าไหม้หรือผุพังไปเสียหมด แบบเดียวกับพุทธสถานสมัยสุโขทัยและอยุธยาทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นแบบเดียวกันนี้
วัดทางพุทธศาสนามหายานของขอม เป็นของใหม่โดยปฏิรูปขึ้นเชิง จากเดิมศาสนาฮินดู มาเป็นพุทธศาสนาบางทีอาจจะเป็นไปได้ว่าพุทธศาสนามหายานรุ่นแรกของเขมร ได้ก่อสร้างพุทธศาสนาเป็นอาณาบริเวณแบบเทวาลัยของลัทธิฮินดูเท่านั้น โดยใช้พุทธสถานเป็นที่ประกอบกิจทำสังฆกรรมและทำกิจของสงฆ์อย่างเช่นคือ การบรรพชา เป็นต้น พุทธสถานสมัยแรกน่าจะเป็นสถานที่สงบเงียบคล้ายเทวาลัย ส่วนนักบวชก็คงจะไปจำศีลภาวนาในที่สงบสงัดตามป่าถ้ำและภูเขาแยกย้ายกันไป เป็นทำนองสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีในเมืองอันจำเป็นจะต้องอยู่ติดประจำสังฆวาส ทำหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพระวินัย ดังเช่นวัดมหาธาตุและวัดในตัวเมืองทั้งหมด อันถือว่าเป็นฝ่ายความวาสีทั้งสิ้น
จึงเกิดการแบ่งแยกสมัยสงฆ์ออกเป็นสองฝ่าย คือพวกแรกอยาในเมือง ขึ้นตรงต่อวัดมหาธาตุ มีพระสังฆราชหรือพระพุทธโฆษาจารย์เป็นประธาน ส่วนคณะสงฆ์ที่อยู่นอกกำแพงเมืองเป็นฝ่ายอรัญวาสีขึ้นตรงต่อพระสังฆราชอันมีพระวันรัตเป็นประธาน
เพราะว่าในภาคกลางของไทยนั้น อยู่ในเขตอิทธิพลของศิลปะขอมแห่งพระนครหลวง ดังนี้ปรางค์หลักของวัดมหาธาตุกับวัดอรัญญิกยังคงเป็นปรางค์แบบขอมเป็นหลักของวัดทั้งสองฝ่าย ดังเช่นที่วัดอรัญญิกที่ราชบุรีเป็นตัวอย่าง (สมัยต่อมาคือสมัยบายนรุ่นหลัง ราวรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ หรือสรินทรวรมัน ขอมยังคงนับถือพุทธศาสนามหายานดังปรากฏในบันทึกของเจียวต้ากวน ที่มาในทูตของจีน ได้พรรณนาถึงสงฆ์อรีและลัทธิตันตริกฝ่ายมนตรยานในนครหลวงอย่างละเอียดซึ่งแสดงว่าศาสนาพุทธมหายานยังคงรุ่งเรืองในอาณาจักรนครหลวง
สมัยหลังจากบายนดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏบนแผ่นพระพิมพ์โลหะขนาดใหญ่เป็นพระตรีกายในซุ้ม หลังซุ้มเหนือขึ้นไปข้างบนเป็นรูปส่วนบนเจดีย์ ระฆังกลมมีเส้นคาดที่กลางองค์ระฆังด้วย และส่วยยอดเหนือระฆังขึ้นไปเป็นลูกแก้วใหญ่สามลูกหรือราวๆ นั้น ยอดเป็นกรวยแหลมคว่ำ เป็นแบบแปลก ยอดเหมือนกับยอดเจดีย์พระบรมธาตุที่ชัยนาท ไม่ผิดเพี้ยน
แสดงว่าอิทธิพลของเจดีย์อู่ทองรุ่นหลังบายนเล็กน้อย สมัยที่อู่ทองยังเป็นมหายาน ได้ส่งแบบไปยังอาณาจักรนครหลวง และศิลปะลพบุรีในดินแดนสยามประเทศทั่วไป เจดีย์มหายานของขอมจึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้)
ปรางค์แบบไทยแตกต่างกว่าปรางค์ขอม อันปรางค์ขอมแท้ๆ นั้นมีลักษณะเทอะทะทำด้วยศิลา ดังเช่น กู่สันตรัตน์และปรางค์บ้านแตง ในมหาสารคาม และปรางค์กู่ที่ชัยภูมิ เป็นต้น
แต่ปรางค์ไทยแม้จะทำด้วยศิลา ก็มีส่วนสัดแปลกออกไปคือยอดทรงเรียวยืดออกเป็นฝักข้าวโพดรุ่นเก่ามักทำด้วยศิลา แต่รุ่นถัดลงมาในสมัยอู่ทองหรือก่อนกรุงศรีอยุธยาไม่นานนัก จะก่อด้วยอิฐไม่สอปูนมักจะสอด้วยดินหรือยางไม้
ทรงปรางค์ไทยรุ่นแรกเป็นลักษณะคล้ายคลึงกันคล้ายปรางค์ขอมแต่ทรงยืดสูงขึ้น รูปทรงอ่อนหวานกว่าปรางค์ขอมดังเช่น
ปรางค์มหาธาตุวัดมหาธาตุ ลพบุรี ทำด้วยศิลา

ปรางวัดพระพายหลวง สุโขทัย ทำด้วยศิลา

ปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุ เมืองเชลียง ทำด้วยศิลา
ปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา ทำด้วยศิลากับอิฐ
และปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา ทำด้วยศิลากับอิฐ
สมัยต่อมาปรางค์รูปทรงเรียวขึ้น ดังเช่น
ปรางค์วัดพระราม อยุธยา ทำด้วยอิฐ
ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยาทำด้วยอิฐ
เราพบพระปรางค์เป็นหลักของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น วัดพระราม วัดพุทไธสวรรย์ วัดป่าแก้ว (คือ วัดวรเชตุเทพบำรุง อยู่กลางทุ่งประเชดทางทิศตะวันตกนอกตัวเกาะอยุธยา)

ส่วนปรางค์ที่วัดมหาธาตุ กับวัดราชบูรณะนั้น เป็นของเดิมมีมาแต่สมัยอโยธยา เพราะปรางค์วัดราชบูรณะก่อด้วยศิลาแลง ส่วนปรางค์วัดมหาธาตุก็มีรากฐานถึงใต้เรือนธาตุเป็นศิลาแลงเช่นกัน สองวัดนี้มาปฏิสังขรณ์สมัยอยุธยาตอนต้น เทคนิคการก่อสร้างปรางค์ด้วยแลงเช่นนี้เป็นเทคนิคที่อยู่ร่วมสมัยกับบายน (ราว พ.ศ. ๑๗๕๐-๑๘๐๐) ดังเช่น ปรางค์ห้ายอด ที่วัดกำแพงแลง เพชรบุรี กับปรางค์สามยอดที่ลพบุรี เป็นต้น
ยังมีปรางค์รุ่นเก่ามีมาก่อนอยุธยา ซึ่งน่าจะจัดว่าเป็นสายเดิมของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือปรางค์วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี (มีมาแต่สมัยเป็นอาณาจักรสุพรรณภูมิ) ปรางค์วัดมหาธาตุ ราชบุรี ปรางวัดอรัญญิก ราชบุรี ปรางค์วัดมหาธาตุที่ลพบุรี ฯลฯ เป็นต้น ปรางค์แบบนี้ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน และขนาดอิฐก็เป็นแบบสมัยอโยธยา-สุพรรณภูมิ จัดว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ หรืออาจจะ ๑๖-๑๘ ปรางค์แบบนี้อยู่ร่วมสมัยกับเจดีย์วัดแก้วเมืองสรรค์บุรี
เจดีย์วัดแก้วเมืองสรรค์บุรี เป็นเจดีย์เก่าแก่ของชาติไทย ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังเช่น ฐานเจดีย์ใหญ่วัดนครโกษา ฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมที่ร้าง วัดสมณโกฏฐาราม อยุธยา ฐานเจดีย์วัดขุนเมืองใจ และเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เจดีย์แบบนี้เชื่อว่าจะต้องเป็นเจดีย์มหายานและมีมาก่อนปรางค์ อย่างเช่นเจดีย์ใหญ่วัดใหญ่ชัยมงคลนั้น เป็นใจกลางเมืองอโยธยารุ่นที่สอง สมัยที่วังพระเจ้าสายน้ำผึ้งยังอยู่ที่หลังวัดพนัญเชิง และปากแม่น้ำแม่เบี้ยก็อยู่ใต้วัดพนัญเชิงออกไปทางใต้เล็กน้อย แถบใกล้วัดใหญ่ชัยมงคลมีสระน้ำใหญ่แบบบาราย และมีวัดเก่าแก่อยู่ใกล้เคียงจำนวนมาก พระนครศรีอยุธยาปัจจุบันที่พระเจ้าอู่ทองไปสร้างพระนครใหม่ใกล้หนองโสน (บึงพระรามนั้น) คงเป็นอาณาจักรเก่ากว่าอโยธยาคือ รุ่นสมัยทวารวดีเพราะได้พบศิลปะทวารวดีมาก รวมทั้งพระพุทธรูปนั่งสมัยทวารวดีที่วัดมหาธาตุ (สมัยรัชกาลที่ ๓ เอาไปไว้ยังวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ)
ปรางค์ที่วัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ น่าจะมีอายุหลังจากเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นมหายานคือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อันแสดงว่าอิทธิพลบายนของพระนครหลวงแผ่เข้ามาถึง ส่วนปรางค์ที่ก่ออิฐเช่นวัดมหาธาตุของสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) คงอยู่ร่วมสมัยกันแต่ของเราก่ออิฐ เมื่อพระเจ้าทองทรงสร้างเมืองใหม่ ให้สร้างวัดพุทไธสวรรย์ (ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์นั้น ของเดิมคงจะพังจึงได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ใหม่สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับวัดวรเชตุเทพบำรุง (วัดป่าแก้ว) ในทุ่งประเชด ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นก็มาปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย) เป็นปฐมกับวัดไล่เลี่ยกันคือวัดพระราม สมัยราเมศวร จึงเป็นปรางค์ก่ออิฐไม่สอปูน แต่เทคนิคก่อสร้างสมัยอยุธยาตอนต้น
ปรางค์วัดส้มเป็นปรางค์ก่ออิฐอยู่ริมคลองท่อ ถ้าพิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นสมัยอโยธยาปลายสุด เป็นปรางค์ก่ออิฐไม่สอปูนแต่มีขนาดเล็กมาก และมีลวดลายวิจิตรพิสดารมาก
ปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นเท่าที่พอจะพิจารณาเห็นชัดคือ ปรางค์ที่ชัณสูตร สิงห์บุรีก่อด้วยอิฐไม่สอปูนใบเสมาที่นั่นสมัยอยุธยาตอนต้น ปรางค์ก่ออิฐไม่สอปูนที่วัดพระธาตุสิงห์บุรี (ใกล้วัดพระนอนจักรสีห์) ปรางค์ที่วัดปรางค์หลวง อยู่ที่บางใหญ่ นนทบุรี มีอุโบสถหน้าปรางค์มีใบเสมาสมัยอยุธยาตอนต้น ปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นที่อยุธยาก็คือ
๑. ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์
๒. ปรางค์วัดวรเชต (ป่าแก้ว) ที่ทุ่งประเชด
๓.ปรางค์วัดกุฎีทอง
เป็นต้น
คติของการสร้างปรางค์เป็นหลักของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น เท่าที่รู้กันอย่างแน่ชัดมาหยุดที่สมัยรามาธิบดีที่สอง เพราะว่าในสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงสร้างวัดจุฬามณีในพิษณุโลก หลักของวัดก็ยังคงเป็นปรางค์อยู่ ต่อมาสมัยพระรามาธิบดีที่สองทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ใกล้พระบรมมหาราชวัง ได้ทรงสร้างเจดีย์กลมลังกาแบบมีซุ้มจระนำสี่ทิศ ตั้งบนฐานสูง มีเจดีย์สลับกับมณฑป ดังนี้บทบาทของเจดีย์ทรงลังกาแบบมีซุ้มจระนำได้เข้ามาแทนที่ของปรางค์เป็นการแน่แต่สมัยนี้
ปรางค์ที่เป็นหลักของวัดมาปรากฏอีกในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ดังเช่น วัดไชยวัฒนาราม สร้างในรัชกาลของพระองค์ มีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธาน (เป็นที่น่าสงสัยว่าปรางค์สมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นของรุ่นหลัง ซุ้มโคปุระข้างหน้าจึงสั้น ไม่เหมือนกับวัดราชบูรณะซึ่งซุ้มโคปุระยาวยื่นออกมา)
มีพระระเบียงและเมรุทิศ เมรุราย หลังจากสมัยนี้ไม่มีการสร้างปรางค์อีก คงใช้เจดีย์กลมเป็นหลักของวัด ยิ่งสมัยอยุธยาตอนปลายก็ใช้เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสิงเป็นหลัดของวัดแทนที่
ปรางค์รุ่นอยุธยากลางมีปรากฏอยู่ที่ปรางค์ ๒ องค์ ณ วัดโลกยสุธา เป็นปรางค์ทรงสูงแบบเดียวกับปรางค์วัดจันทราราม (ข้างวัดอินทราราม) และที่วัดกุฏีทอง วัดศาลาปูน เป็นต้น
สมัยอยุธยาปลาย มีปรางค์ขนาดเล็ก ทรงสูง ยอดปรางค์เรียวเล็กดังปรากฏที่ปรางค์รายขนาดเล็กที่วัดราชบูรณะกับปรางค์รายที่วัดพุทไธสวรรย์
ดังได้กล่าวแล้วว่า ความนิยมการใช้ปรางค์เป็นเจติยสถานประจำวัดในพุทธศาสนานั้น ได้นิยมกันก่อนในอาณาจักรลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแถบกลางของสยามประเทศ โดยได้รับอิทธิพลหรือเป็นศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะบายนของขอม ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จากนั้นจึงส่งอิทธิพลไปยังอาณาจักรสุโขทัยในสมัยอยุธยาตอนปลาย พระปรางค์ซึ่งเคยเป็นหลักของวัดเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก็ได้มีเจดีย์ทรงกลมกับเจดีย์เหลี่ยมเข้ามาเป็นหลักของวัดแทนที่ตามลำดับ และพระปรางค์ก็ได้ย่อขนาดเป็นปรางค์ขนาดย่อมอยู่รวมกลุ่มกับเจดีย์รายของวัดดังได้กล่าวมาแล้ว
ล่วงมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังคงถือประเพณีตามแบบแผนอยุธยาตอนปลาย ซึ่งให้เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองหรือย่อมุมยี่สิบเป็นหลักของวัดอยู่ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่สาม ได้ย้อนกลับมานิยมใช้ปรางค์เป็นหลักของวัดอีก ดังเช่นวัดจักรวรรดิราชาวาส วัดราชบูรณะ วัดอัปสรสวรรค์ และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด แต่คราวนี้ตำแหน่งของพระปรางค์กลับอยู่ด้านหน้าอุโบสถ หรืออยู่ด้านหน้าขนาบด้วยอุโบสถหรือวิหาร ตัวพระปรางค์มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าสมัยอยุธยาตอนปลายเล็กน้อย และมีการประดับกระเบื้องถ้วยชามจีนอย่างสวยงาม ดังพระปรางค์วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เป็นต้น บางทีก็ทำปรางค์ขนาดใหญ่ทรงจอมแห ดังเช่นพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการสร้างปรางค์ฐานของปรางค์เป็นห้องและมีอาร์ตโค้งแบบยุโรป ดังเช่น ที่วัดนวลนรดิศและวัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นต้น เป็นแบบเดียวกับเจดีย์สมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีอาร์ตโค้งข้างล่างนั่นเอง
ปรางค์ในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทำเป็นปรางค์รายก็เห็นจะมีเพียงแห่งเดียว คือกลุ่มปรางค์รายเป็นแถวหน้าอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งก็มีปรางค์รายเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ปรางค์ที่มีขนาดเดียวกับปรางค์รายดังกล่าวนั้น ในสมัยอยุธยาตอนปลาย กับสมัยรัชกาลที่หนึ่ง แห่งรัตนโกสินทร์ นิยมสร้างอยู่ในเขตกำแพงแก้ว ๔ มุมที่ล้อมรอบอุโบสถ ดังเช่นอุโบสถวัดบางขุนเทียนนอก กับวัดทองในคลองบางพรม ธนบุรี เป็นต้น บางทีก็ทำเป็นปรางค์อยู่ ๔ มุม ด้านในของพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถ ดังเช่นพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ และวัดมหาธาตุ เป็นต้น
ล่วงมาสมัยรัชกาลที่ ๕ คติการสร้างพระปรางค์ไม่ปรากฏ แต่ไปปรากฏเอาปรางค์ไปดัดแปลงเป็นอนุสาวรีย์ต่างๆ ดังเช่นกลุ่มอนุสาวรีย์ที่วัดราชบพิตรกับอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ที่พระราชวังสราญรมย์ นั้น