
หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
วัดป่าประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
“พระอริยเจ้าผู้มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางะรรม”
พระเดชพระคุณหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ พระอริยสงฆ์ประเภทขิปปาภิญญา (บรรลุธรรมเร็ว) เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าหาได้ยาก สละทรัพย์สมบัติ ออกบวชตามรอยบาทพระศาสดา ไม่มีความอาลัยเสียดาย ประดุจบ้วนน้ำลายทิ้งลงบนแผ่นดิน เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดสดับฟังโอวาทและติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธุดงควัตร ชอบเที่ยวธุดงค์ในประเทศลาวและประเทศพม่า เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีวิสัยวาสนาแก่กล้า พยายามฟันฝ่ากับอุปสรรคทั้งปวงเพื่อจะขอเอาดวงจิตของท่านพ้นทุกข์ให้ได้
ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร พุทธศักราช ๒๔๓๑ ปีขาล ณ บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของนายจันทร์ และนางวันดี สุภาพงษ์
ชีวิตสมัยเป็นฆราวาสท่านแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรก ภรรยาคลอดลูกตายทั้งกลม ท่านเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ทำให้ครุ่นคิดได้ว่า “ทำอย่างไรหนอชีวิตของเรานี้จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง” ครั้งที่สอง ได้อยู่กินกับภรรยาใหม่ด้วยความราบรื่นจนออกบวช ท่านเป็นคนหมั่นขยันฉลาด ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้ากองเกวียน (นายฮ้อย) จนมีฐานะ ร่ำรวย ด้วยความประพฤติดีเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์สาร ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น เกิดความดื่มด่ำซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงขอให้ภรรยาบวชชีก่อน แล้วตัวท่านได้สละทรัพย์สมบัติออกบวชตาม โดยแจกทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเป็นทาน ไม่ยินดีอาลัยในทรัพย์สินเหล่านั้น ผู้คนที่มาเข้าแถวยาวเหยียดรอรับแจกทานจากท่านเป็นทิวแถวยาวเหยียดสุดสายตา ท่านใช้เวลาแจกทานวัตถุถึง ๓ วัน ๓ คืนจนหมด
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ เมื่อท่านอายุ ๓๗ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนน้องชาย น้องสาวและน้องเขยได้ฟังคำสอนจากท่านก็ออกบวชตามด้วย นัยว่าเป็นผู้มั่นคงในศาสนาตลอดชีวิตทุกคน
หลังจากบวชแล้วท่านเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่ท่านเห็นพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก ท่านได้นึกประมาทอยู่ในใจว่า “พระองค์เล็กๆ อย่างนี้นะหรือ...ที่ผู้คนเข้าล่ำลือกันว่าเก่งหนา ดูและไม่น่าจะเก่งกาจอะไรเลย” ครั้นเข้าไปนมัสการพระอาจารย์มั่นท่านกล่าวขึ้นเสียงดังว่า“การด่วนวินิจฉัยความสามารถของคนโดยมองดูแต่เพียงร่างกายเท่านั้นใช้ไม่ได้จะเป็นการตั้งสติอยู่ในความประมาท” เมื่อท่านได้ยินดังนั้นถึงกับสะดุ้ง เกิดความอัศจรรย์ในการรู้วาระจิตของท่านพระอาจารย์มั่น บังเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งสัจวาจาถวายชีวิต
สมัยที่ท่านเดินธุดงค์แสวงหาความวิเวกในประเทศพม่า ท่านเล่าว่าขณะที่ท่านนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่นั้นได้ปรากฏมีภาพพระภิกษุรัศมีในกายสีฟ้าบอกว่า “เราคือพระอุปคุต...เธอเคยเป็นศิษย์ของเรา เธอมีนิสัยแก่กล้า เอาให้พ้นทุกข์นะ” ท่านได้รับชมเชยจากพระอาจารย์มั่นต่อหน้าพระเถระผู้ใหญ่หลายองค์ว่า “ท่านพรหม...เป็นผู้มีความพากเพียรสูงยิ่ง เป็นผู้มีสติ มีความตั้งใจแน่วแน่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดี ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง”
ทางคราวท่านพระอาจารย์มั่นได้ถามท่านต่อหน้าพระเถรานุเถระทั้งหลายขั้นว่า “ท่านพรหม...ท่านเดินทางมาแต่ไกลเป็นอย่างไรบ้าง การพิจารณากาย การภาวนา เป็นอย่างไร” ท่านตอบอย่างอาจหาญว่า “เกล้าฯ ไม่มีอกถังกถีแล้ว” (ไม่มีความลังเล สิ้นสงสัย) ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวยกย่องว่า “ท่านพรหม...สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากบวชได้เพียงพรรษา ๕”
ท่านละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสพระนิพพาน เมื่อสันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๑๗.๓๐ น. ด้วยโรคชรา
สิริอายุ ๘๑ ปี ๔๓ พรรษา

ภาพพระธาตุหลวงปู่พรหม จิรปุณโญ



