
พรรษาที่ 5และ6 พ.ศ. 2490 - 2491
จำพรรษา ณ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ข้าพเจ้าก็เข้าไปพักที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งทราบว่าเป็นวัดที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านเคยมาพัก ท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั่นเหมือนกัน ระยะแรกได้พักวิเวกอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง 3 เดือน คืนหนึ่งขณะไปนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตภาพเกิดขึ้นว่า ปรากฏมีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งมาหา ท่านได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า
“ ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ “
ท่านให้โอวาทดังนี้แล้วก็หายไป ข้าพเจ้าจึงมากำหนดพิจารณาดูนิมิตนั้น คำว่า “ แผ่นดิน “ หมายความว่าให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดินนั่นเอง เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ต่าง ๆ ก็อย่าทำใจให้วอกแวก ให้มีสติกำหนดให้ใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่านให้เป็นเหมือนแผ่นดิน แต่เพื่อความกระจ่างแน่ใจปัญหาธรรมนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่น ที่ท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยด่วน
“ กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนาแล้วเกิดนิมิต ปรากฏมีเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า .....ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ......ดังนี้ เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติและปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูบาอาจารย์โปรดประทานให้โอวาทตักเตือนด้วย “
เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นได้รับจดหมาย ก็รีบตอบมาโดยทันทีว่า “ ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาท เพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป “
ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็เลยออกไปวิเวกตามแถบรอบ ๆ นครเชียงใหม่ ในระยะหนึ่งได้ออกธุดงค์ไปอยู่ที่อุโมงค์ใกล้สนามบินจังหวัดเชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ ทางด้านตะวันตกของสนามบินมีเจดีย์เก่า ๆ อยู่องค์หนึ่ง เขาทำเป็นอุโมงค์ มีถ้ำเป็นช่อง ๆ ข้าพเจ้าและหมู่เพื่อนพากันไปพักวิเวกที่นั้น ตกกลางคืนได้นิมิตอีกปรากฏว่าข้าพเจ้ากับท่านพระอาจารย์มั่นได้พากันทำหีบศพอยู่ที่บนเจดีย์ และในขณะนั้นท่านเจ้าคุณคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ สิริจนฺโท ) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสได้เหาะมากลางอากาศ แล้วมาหยุดยืนที่ตรงหน้าข้าพเจ้า แล้วท่านก็ให้โอวาทว่า “ ท่านจวน อุเปกฺขินทริย์ “ แล้วท่านก็หายไป
ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตแปลดูว่า อุเปกฺขินทริยํ แปลว่าอะไร ก็แปลได้ความว่าให้วางใจเป็นอุเบกขา เป็นกลางจากอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อกระทบรูปเสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ให้วางใจเป็นอุเบกขาเป็นกลาง ๆ ด้วยความมีสติและปัญญา อย่าเอาใจให้ฟั่นเฝือหลงใหลลุ่มหลงในอารมณ์ที่มากระทบ
ข้าพเจ้ากำหนดจิตคิดตามนิมิตนั้นว่า พรุ่งนี้อาจมีอันตรายหรือเหตุการณ์อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเป็นแน่
พอรุ่งขึ้น หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้ว หมู่พวกได้ออกไปเที่ยวชมดูสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ ยังแต่ตัวข้าพเจ้าอยู่คนเดียวในถ้ำนั้น ในกลางวันก็มีพวกหญิงสาว ๆ สวย ๆ ดาราเชียงใหม่มาเที่ยวบริเวณนั้นได้ยินเสียงคุยกันลั่นว่า แถวนี้มีพระธุดงค์เรามาค้นหาตุ๊เจ้ากันดีกว่า มีหญิงสาวรูปสวยคนหนึ่งแยกจากหมู่มาเที่ยวค้นหาพระในถ้ำตามลำพัง ค้นไปค้นมาก็มาเห็นข้าพเจ้านั่งภาวนาอยู่ในช่องถ้ำคนเดียว เวลานั้นข้าพเจ้าได้ภาวนาอยู่ในกลด แต่หญิงนั้นก็เข้ามาแหวกมุ้งกลดออก และร้องเอะอะเสียงลั่น “ นี่ตุ๊เจ้านี่ ตุ๊เจ้าอยู่นี่...ตุ๊เจ้าอยู่นี่ “
หญิงสาวผู้นั้นยืนแหวกกลดเพ่งข้าพเจ้าอย่างไม่เกรงใจ และยิ้มอย่างชวนเชิญ ข้าพเจ้ามองดู เห็นหน้าอกของเขาเต็มอก พอสายตาลงต่ำลง ก็มองเห็นผ้านุ่งบาง ๆ เป็นซิ่นสเกิร์ตสั้น ๆ ก็เลยเกิดความกำหนัดขึ้น ข้าพเจ้าจึงคิดถึงคำเทศน์ของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ “ อุเปกฺขินทริย์ “ ก็เลยพิจารณาอุบายนั้นจิตก็คลายความฟุ้งซ่านและสงบลง หญิงคนนั้นก็ไปป่าวร้องเพื่อนเข้ามาดูข้าพเจ้า ตุ๊เจ้าสวย บ้างเอาของเข้ามาถวาย ข้าพเจ้าให้พรเขาแล้วเขาก็เลิกละไป
ข้าพเจ้าได้ทำความเพียรอยู่ที่ถ้ำนั้นพอประมาณแต่ต่อไปความสงบก็ลดลง ต้องรีบหนี เพราะกิตติศัพท์แพร่ไป มีพวกหญิงสาวมาเล่นค้นหาพระกันมากขึ้นเวลาเสียงคนมา พระรีบเอามุ้งกลดลง แต่บางทีก็จะมีหญิงใจกล้าอย่างที่กล่าวแล้ว มาเปิดมุ้งกลดดูพระส่งเสียงสรวลเสกัน จึงต้องรีบหนี แล้วก็ออกวิเวกต่อไปตามแถบเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพงบ้าง อำเภอแม่แตง และแถบจังหวัดลำพูนบ้าง โดยพยายามหลีกเร้นไปตามดอย ตามป่าตามเขาที่สงัดห่างจากหมู่ชุมชน
ได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 2 พรรษา แล้วก็เดินไปวิเวกที่จังหวัดเชียงราย อยู่เชียงรายระยะหนึ่งก็คิดต่อจะเข้าไปเขตพม่า เพื่อธุดงค์ไปให้ถึงเชียงตุงข้าพเจ้าเดินทางจากอำเภอแม่สายในเขตไทย เดินถึง 7 คืน 7 วัน จึงถึงเชียงตุง เป็นการเดินทางด้วยเท้าเปล่าโดยตลอด ทางเดินธุดงค์ก็เป็นทางเดินไปตามยอดดอยล้วน ๆ ไปกับเณรหนึ่งและโยมหนึ่งแล้วไปพักวิเวกอยู่บนยอดแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า ดอยแตง ซึ่งเขาทำวิหารไว้บนยอดดอยสำหรับพวกเขินและพวกเงี้ยว อาศัยบิณฑบาตจากหมู่บ้านเชิงดอยโดยรอบนั่นเอง ดอยนี้สงบสงัดดีมาก เวลาพลบค่ำ มีเสือมาร้องมาครางให้ฟังทุกวัน ๆ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่ดอยแตงนี้ถึง 3 เดือน จึงธุดงค์ต่อไป
การเดินทางไปวิเวกต่างแดนนี้ ดีอยู่สำหรับการจะไปเที่ยวชมพูมิประเทศป่าเขา ลำเนาไพร พบผู้คนบ้านช่อง ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีที่แปลกตาไปจากเมืองไทยของเรา แต่สำหรับการภาวนาภารกิจของสงฆ์นั้น ถ้าได้อยู่วิเวกตามลำพังก็คงจะพบสถานที่อันสัปปายะแก่เราบ้าง แต่ถ้าหากจะต้องอยู่ร่วมกับภิกษุพม่าแล้ว ก็ออกจะมีความขัดข้องใจมากในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกัน จนบางอย่างไม่ตรงกับธรรมวินัยพุทธบัญญัติเลย บางแห่งจะพบพระชวนกันต้มข้าว ทำอาหาร ในตอนกลางคืน ฉันกันอย่างหน้าตาเฉยบางแห่งจะเห็นพระลูกวัด หรือแม้แต่เจ้าอาวาสเองจะนอนสูบฝิ่น กินฝิ่นกันอย่างสุขารมณ์ และเขาเห็นเป็นธรรมดาด้วยจึงได้เชิญให้พระอาคันตุกะอย่างข้าพเจ้าร่วมฉันด้วย ร่วมสูบด้วย ร่วมกินด้วย
สิ่งที่ทางไทยถือเป็นข้อบกพร่อง ผิดศีล ทำให้ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย ศีลเศร้าหมอง แต่ทางโน้นจะมีความเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ส่วนผู้คนของเขา แม้จะมีศรัทธาดี แต่สำหรับสีกาแล้ว จะต้องระมัดระวังสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ให้มากยิ่ง หญิงสาวเชียงตุงหลายแห่งที่พอเห็นข้าพเจ้าก็จะเอะอะกิ๊วก๊าวชักชวนเพื่อนมาดู
“ดูเจ้าศีลธรรมองค์นี้ สวยแท้ สวยหลาย ผิวก็งาม หน้าก็งาม ผู้หญิงไหน ๆ ก็สวยสู้ไม่ได้ ”
เขาพูดวิจารณ์กันดัง ๆ อย่างไม่ขวยเขินอะไร และไม่นึกเกรงว่าพระจะเขินด้วย รู้สึกว่า เขาเห็นพระคล้ายเป็นหุ่นหรือท่อนไม้อะไรอย่างหนึ่ง
บางแห่ง ไม่แต่หญิงสาวเอง แม้แต่พ่อแม่ของหญิงก็จะพยายามเจรจาหว่านล้อมให้เราละเพศพรหมจรรย์ ไปครองชีวิตฆราวาสร่วมกับลูกสาวของเขา
“ เฮารักตุ๊เจ้ากันจริง ๆ จักรก็เป็นของตุ๊เจ้า บ้านก็ของตุ๊เจ้า ไร่นาสาโทสมบัติทั้งหมดก็ของตุ๊เจ้า เฮาจะยกให้ตุ๊เจ้าหมด ขอแต่ให้ตุ๊เจ้าลาสิกขาบทอยู่กับเฮา ให้เฮาได้ฝากผีเต๊อะ
ที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ มิใช่เป็นการอวดตัว ยกตัวอะไร แต่ก็เล่าให้เป็นคติเพื่อเพื่อนสหพรหมจรรย์พรรษาน้อยอย่างข้าพเจ้าในสมัยนั้นจะได้พยายามสังวรระมัดระวังกายใจ มิให้ตกเป็นเหยื่อแก่กิเลสมารต่าง ๆ เท่านั้น
การผจญกิเลสมารจากมาตุคามอันน่ากลัวนี้ แม้ระหว่างธุดงค์อยู่ในจังหวัดภาคเหนือก็ได้ประสพอีกหลายครั้งอยู่เหมือนกัน อาทิเช่น วันหนึ่งข้าพเจ้าไปบิณฑบาตรในหมู่บ้านที่เคยไปบิณฑบาตร เห็นหญิงสาวคนหนึ่งมายืนรอใส่บาตรอยู่ข้างทางห่างจากหมู่เพื่อน เมื่อหญิงนั้นเห็นข้าพเจ้าก็ร้องนิมนต์ ข้าพเจ้าจึงตรงเข้าไปรับบาตร พอเปิดฝาบาตรเตรียมจะรอรับอาหาร หญิงสาวคนนั้นก็ชะงักกริยาที่จะถวายอาหาร กลับวางถาดและขันข้าวลงเสีย แล้วขยับผ้านุ่งคลี่ออกเป็นวงกว้างอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า เขาไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่มชั้นในชิ้นใดปกปิดร่างกายเลย จึงเท่ากับมาเปลือยกายส่วนล่างอยู่ต่อหน้าพระนั่นเอง ข้าพเจ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ จึงเกิดความรู้สึกในทางใคร่ขึ้นมาบ้าง แต่ก็มีสติทัน จึงรีบปิดฝาบาตรเดินหนีไปในทันที และในวันนั้นก็ได้ออกเดินทางจากหมู่บ้านนั้นไปเลย
อีกครั้งหนึ่ง ระหว่างท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดภาคเหนือเช่นเดียวกัน ในบรรดาญาติโยมที่คอยอุปฐากอยู่นั้น มีหญิงสาวรูปสวยคนหนึ่งคอยถวายจังหันข้าพเจ้าเป็นประจำ หญิงนั้นเป็นน้องสาวนายอำเภอ และเป็นผู้มีกริยามารยาทแช่มช้อย แต่ก็มักจะส่งสายตามาให้ข้าพเจ้าเสมอ ประกอบทั้งผู้ปกครองของเขา ก็ได้พูดจาเป็นเชิงสนับสนุนให้ข้าพเจ้าสึกหาลาเพศออกมาอยู่ช่วยทำมาหากินด้วย ข้าพเจ้าพยายามเจริญอสุภะเท่าใด ก็ไม่ค่อยเป็นผล ออกจะมีใจเขวไปบ้าง จนถึงกับคิดว่า นี่เราจะหมดบุญในทางเพศพรหมจรรย์หรืออย่างไร คืนวันนั้น กำลังอยู่ในระยะตัดสินใจเรียกว่า “ จะอยู่หรือจะไป “ กันนี่แหละ จึงอธิษฐานว่า ถ้าหากข้าพเจ้าจะได้มีวาสนาได้เห็นธรรมเจริญต่อไปในทางพระพุทธศาสนา ก็ขอให้มีเหตุใดเหตุหนึ่งมาช่วยคลี่คลายเรื่องที่กำลังประสบนี้ด้วยเถิด
เช้าวันต่อมา เมื่อออกบิณฑบาตหญิงสาวผู้นั้นก็มายืนรอใส่บาตรตามเคยข้าพเจ้าพยายามไม่มองหน้าหญิงนั้นเลยพอเปิดฝาบาตรจะรับบาตร ก็ให้บังเอิญว่า ผ้าประจำเดือนของหญิงนั้นได้หลุดลงที่พื้นดินแม้หญิงนั้นจะตกใจ พยายามใช้เท้าเหยียบให้จมโคลน ปกปิดภาพของจริงไว้ แต่ข้าพเจ้าก็ทันเห็นเลือดสีแดงเต็มตา ในใจเกิดความรู้สึกสลดสังเวชขึ้นมาทันที ด้วยเห็นถนัดเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจระลึกมาได้ว่า เราได้อุตส่าห์สละชีวิตจากเพศฆราวาส มาสู่เพศบรรพชิตหนีจากของต่ำมาหาของสูงแล้วเรายังจะย้อนกลับไปหาชีวิตที่เราสละแล้วอีกหรือ
ได้คิดเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปิดฝาบาตร กลับหลังสู่ที่พักโดยไม่ยอมบิณฑบาตหรือรอฉันจังหัน เร่งแต่งของ และหนีออกไปจากที่นั้นทันที
ประสบการณ์เหล่านี้ ในภายหลังเมื่อได้มีโอกาสมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ข้าพเจ้าก็ได้เล่าถวายให้ท่านฟัง โดยเฉพาะความรู้สึกที่ระยะแรกยังตัดไม่ขาดจากอารมณ์ปุถุชน ท่านฟังแล้วก็ว่าเป็นธรรมดาของพระหนุ่มจะต้องพบเหตุการณ์เช่นนี้ ความสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้องเจริญกรรมฐานต่อสู้เอาชนะกิเลสมารตัวร้ายนั้นอย่างไรต่างหาก
ขณะที่อยู่เชียงตุงนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะเดินทางไปอินเดีย เพื่อจะได้มีโอกาสไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งให้สมกับที่เป็นพุทธบุตรพระสงฆ์สาวกของพระบรมศาสดา จึงได้ไปพูดกับเจ้าสิทธิเชียงตุงซึ่งเป็นสังฆราช หรืออาจจะเทียบได้กับเจ้าคณะจังหวัดของเชียงตุง เรียนท่านว่า อยากจะไปอินเดีย ถ้าหากจะเดินทางออกไปร่างกุ้ง ผ่านไปอินเดียจะได้ไหม ท่านก็มีความยินดี ตอบว่าไปได้แต่ต้องขอให้โอนเข้าเป็นพระเมืองเชียงตุงก่อน โดยตัวท่านยินดีจะรับโอนข้าพเจ้าเข้าเป็นพระเมืองเพื่อให้ข้าพเจ้าได้รับความสะดวกในด้านการขอหนังสือเดินทางต่าง ๆ
แต่ก่อนจะเตรียมดำเนินการทั้งปวงเพื่อเดินทางไปอินเดีย ข้าพเจ้าก็ได้ลองอธิษฐานจิตดูว่า ถ้าเราสมควรจะเดินทางไปอินเดีย คือเป็นการดี ก็ขอให้มีนิมิตภาพปรากฏเป็นที่พอใจ ถ้าไม่ควรไป คือ ไปแล้วจะมีเหตุอันตราย ก็ขอให้ได้มีนิมิตร้าย
อยู่มาก็เลยเกิดนิมิตขึ้นว่า ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์และพระมหากัสสปะและช้าง เป็นนิมิตปรากฏในจิตขณะที่ภาวนา เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไปก่อนพระอานนท์ ขาวบริสุทธิ์หมดจด งามมาก พระวรกายมีรัศมีเป็นแสงโอภาสจับตา พระอานนท์ก็เสด็จตามหลังห่างกันระยะประมาณสัก 10 เมตร องค์สุดท้ายเป็นพระมหากัสสปะ เดินตามหลัง สุดท้ายตามหลังพระมหากัสสปะมาเป็นช้างตัวใหญ่ พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านข้าพเจ้าไปก่อนโดยไม่รับสั่งอะไรเลย พระอานนท์และพระมหากัสสปะต่างองค์ก็ไม่พูดเช่นกัน พอพระมหากัสสปะเดินผ่านข้าพเจ้าไปไกลช้างตัวนั้นซึ่งทอดระยะห่างจากท่านราว 1 เส้น ก็มาถึงข้าพเจ้า และวิ่งเข้าใส่ หวังจะทำร้ายขยี้ข้าพเจ้าให้แหลกเหลวตาย ข้าพเจ้ามองเห็นต้นโพธิ์ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ จึงวิ่งกระโดดหนีขึ้นต้นโพธิ์ เมื่อช้างวิ่งมาถึง ข้าพเจ้าก็หนีขึ้นไปอยู่บนคาคบต้นโพธิ์ได้แล้ว ช้างจะเอางาแทงเลยแทงไม่ถึง มันรีรออยู่ระยะหนึ่ง เห็นว่าทำอะไรข้าพเจ้าไม่ได้ ก็เลยเดินตามหลังพระมหากัสสปะไป
เมื่อช้างไปแล้วข้าพเจ้าจึงลงจากต้นโพธิ์ มองเห็นที่ใต้ต้นโพธิ์มีอาสนะปูลาดไว้อย่างเรียบร้อย พร้อมทั้งมีหมอนอินใบหนึ่งวางพิงอยู่ที่โคนต้นด้วย ข้าพเจ้าจึงลงมานั่งบนอาสนะที่ปูลาดและพิงหมอนอิงนั้น เห็นใกล้ ๆ นั้นมีหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่งปกแข็งขนาดหนาประมาณ 3 นิ้ว วางทิ้งอยู่ ข้าพเจ้าจึงหยิบหนังสือนั้นมาเปิดอ่าน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกอ่านหนังสือนั้น ปรากฏว่าเป็นหนังสืออภิธรรม ข้าพเจ้านั่งอ่านไประยะหนึ่ง เลยจิตถอนจากนิมิตนั้น
ข้าพเจ้าจึงมาพิจารณานิมิตนั้น เห็นว่าแม้ว่าการมีนิมิตเห็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งพระอานนท์และพระมหากัสสปะ จะเป็นมงคลอันสูงสุดก็ตาม และนิมิตตอนท้ายก็เป็นเรื่องที่ดีแต่อย่างไรก็ดีตอนกลางนั้นแสดงถึงอุปสรรค จึงคิดว่า ไม่ควรไปประเทศอินเดียเพราะไม่สะดวก ควรกลับดีกว่า ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับจากเชียงตุง
ขากลับข้าพเจ้านั่งรถออกจากเชียงตุงเวลา 6 โมงเช้ามาถึงแม่สายเชียงรายจนค่ำ สามทุ่ม ขึ้นรถจากแม่สายถึงบ้านภาชี แวะนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี จากนั้นก็นั่งรถกลับมาจังหวัดอุบลราชธานี พักอยู่พอประมาณก็เดินทางต่อไปวัดป่าบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนครเพื่อกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น
พอไปถึงก็เข้าไปกราบเท้าท่านด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ท่านได้ถามทุกข์สุขว่า “ เป็นอย่างไรบ้างจากไปถึง 2 ปี การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง และไปเที่ยวที่ไหน “
ข้าพเจ้าได้กราบเรียนท่านว่า “ ไปถึงเชียงตุงขอรับกระผม การภาวนาไม่สู้ดีเหมือนอยู่กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์หมายถึงอยู่ใกล้กับท่านพระอาจารย์มั่น
ท่านจึงว่า “ ใช่แล้ว ขณะที่ผมอยู่ภาคเหนือ หมู่ได้อาศัยผม พอผมจากมาแล้วภาคเหนือหมู่ได้อาศัยผม พอผมจากมาแล้วภาคเหนือไม่มีใครอาศัยก็ไม่ค่อยดีเพราะไม่มีผู้อาศัยต่อไปนี้ ท่านจวนอย่าไปอีกให้ภาวนาอยู่แถวภาคอีสานนี่แหละดีแล้ว อย่าไปอีกเลย “
เป็นคำที่ท่านแนะนำและข้าพเจ้าก็น้อมรับไว้ปฏิบัติตามด้วยความเคารพโดยต่อมาก็ได้ท่องเที่ยวภาวนาอยู่แต่ภาคอีสานตลอดมา
เพื่อให้ประวัตินี้บริบูรณ์ตามจริง ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเหตุการณ์ในระหว่างที่ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น กล่าวคือ ในกลางพรรษาได้นิมิตปรากฏขึ้นว่า ข้าพเจ้ามีตะเกียงโคมรั้วอยู่ดวงหนึ่งเอาไม้ขีดมาจุดตะเกียงโคมรั้วนั้น จุดไม้ขีดกี่ก้าน ๆ ก็ไม่ติดไฟไม่ติดสักที การจุดตะเกียงนี้ข้าพเจ้าได้กระทำต่อหน้าท่านพระอาจารย์มั่น ดังนั้นเมื่อเห็นข้าพเจ้าจุดไม้ขีดไม่ติด ท่านพระอาจารย์มั่นเลยเอาตะเกียงข้าพเจ้าไปจุดให้ เมื่อท่านจุดให้ ไม้ขีดเพียงก้านเดียวก็ติดทันที ท่านจุดให้แล้วก็หมุนไส้ตะเกียงขึ้นให้แสงสว่างขึ้นแล้วท่านก็ว่า “ .....เอาละ ขนาดนี้สว่างแล้ว... ! “ แล้วท่านก็ยื่นตะเกียงโคมรั้วคืนให้ข้าพเจ้า
นี่เป็นนิมิตครั้งหนึ่ง
อีกครั้งหนึ่ง เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นระหว่างกลางพรรษาที่อยู่ร่วมกับท่านเช่นเดียวกัน
นิมิตครั้งหลังนี้ มีว่า ข้าพเจ้าเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ กำลังอ่านหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ด้านปกหลังของหนังสือนั้นมีลายวิจิตรพิสดารมาก ปกหน้ามีสลักตัวอักษรขนาดใหญ่ “ หนังสือสงเคราะห์ต่าง ๆ “ เป็นหนังสือเล่มใหญ่หนาประมาณ 3 นิ้ว ขณะที่ท่านกำลังอ่านนั้น มีพระลูกศิษย์ทั้งหลายนั่งห้อมล้อมท่านอยู่หลายองค์ ข้าพเจ้ามองดูแล้วก็นึกในใจว่า หนังสือที่ท่านอ่านนี้ ถ้าท่านอ่านแล้ว ท่านจะมอบให้องค์ไหนหนอ...พอท่านอ่านจบท่านก็ยื่นหนังสือให้ข้าพเจ้าแล้วบอกว่า “ เอ้า...หนังสือนี่ ท่านจวนเอาไป....เพราะท่านจวนดูแล้วเข้าใจดี คนอื่นดูคงไม่เข้าใจดีเท่าไรแต่ท่านดูแล้วเข้าใจดี “ ท่านเลยมอบให้ข้าพเจ้า
จะเป็นเพราะเหตุไรก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าไม่ได้พิจารณานิมิตเหล่านี้เลย