ReadyPlanet.com
dot dot
dot
พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2489 อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม article

พรรษาที่  4  พ.ศ.  2489
อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น
ณ  วัดป่าบ้านหนองผือ   อำเภอพรรณานิคม


     ดังได้กล่าวมาแล้ว  ว่าพอออกพรรษาที่  3  ได้เพียง  5  วัน  ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารก็มารับข้าพเจ้านำไปฝากให้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ที่วัดป่า  บ้านหนองผือ  อำเภอพรรณานิคม  จังหวัดสกลนคร  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่านได้ฟังโอวาทของท่าน  ตลอดฤดูแล้ง  จนกระทั่งถึงเวลาเข้าพรรษาของปีใหม่  และได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่  4 

     โอวาทของท่านส่วนใหญ่  ล้วนแต่แนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางวินัยและธุดงค์ให้เคร่งครัด  การภาวนา  ท่านก็ให้พิจารณากายเป็นใหญ่  คือ กายาคตานุสติ  ให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งตามที่ถูกกับจริตนิสัยของตน  หรือถ้าหากจิตมันไม่สงบ  มีความฟุ้งซ่าน  ท่านก็ให้น้อมนึกด้วยความมีสติ  ระลึกคำบริกรรมภาวนาว่า  พุทโธ – พุทโธ  เมื่อจิตสงบแล้วท่านก็ให้พักพุทโธ ไว้ให้อยู่ด้วยความสงบแต่ก็ต้องให้มีสติ

     ทำให้ชำนิชำนาญ  เมื่อชำนาญด้วยการบริกรรม  หรือ  ชำนาญด้วยความสงบแล้ว  ท่านก็ให้มีสติ  น้อมเข้ามาพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งที่ถูกจริตนิสัยของตนด้วยความมีสติ  เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้สงบ  เมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาด้วยความมีสติทุกระยะ  มิให้พลั้งเผลอเมื่อจิตมันรวม  ก็ให้มีสติระลึกรู้ว่าจิตของเรารวม  อยู่เพราะจิตหรืออิงอามิสคืออิงกรรมฐาน  หรืออิงอารมณ์อันใดอันหนึ่งก็ให้มีสติรู้  และอย่าบังคับจิตให้รวม  เป็นแต่ให้มีสติรู้อยู่ว่าจิตรวม  เมื่อจิตรวมอยู่ก็ให้มีสติรู้  และอย่าถอนจิตที่รวมอยู่  ให้จิตถอนออกเอง 

     พอจิตถอน  ให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตนเคยพิจารณาที่ถูกกับจริตนิสัยของตนนั้น ๆ อยู่เรื่อยไปด้วยความมีสติ  มิให้พลั้งเผลอ  ส่วนนิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นนิมิตแสดงภาพภายนอกก็ตาม  หรือเป็นนิมิตภายในซึ่งเป็นธรรมะผุดขึ้น  ก็ให้น้อมเข้ามาเป็นอุบายของกรรมฐาน  ของวิปัสสนา  คือ  น้อมเข้ามาให้สู่ไตรลักษณ์  ให้เห็นเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ด้วยกันทั้งหมด  คือให้เห็นว่า  สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความคิดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งทั้งปวงก็ย่อมมีความดับเป็นธรรมดา  ดังนี้  ด้วยความมีสติอยู่เสมอ ๆ อย่าพลั้งเผลอหรือเพลิดเพลินลุ่มหลงไปตามนิมิตภายนอกที่แสดงภาพมา  หรือนิมิตภายในที่ปรากฏผุดขึ้น  เป็นอุบายเป็นธรรมะก็ดี  อย่าเพลิดเพลินไปตาม  แล้วให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม  ให้เห็นเป็นไตรลักษณ์  คือ  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  มิใช่ตน  มิใช่ของตน  มิใช่ของแห่งตน  ด้วยความมีสติอยู่อย่างนั้น 

      เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักสงบ  เมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาด้วยความมีสติ  อยู่อย่างนี้   

      นี้เป็นโอวาทคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นโดยมากท่านแนะนำโดยวิธีนี้  แล้วข้าพเจ้าก็ตั้งอกตั้งในทำความพากความเพียรไปตามคำแนะนำของท่าน การอยู่ใกล้ผู้ใหญ่  ทำให้มีสติระมัดระวังตัว  ไม่กล้าพลั้งเผลอ  โดยเฉพาะการอยู่ใกล้ผู้ใหญ่อย่างท่านพระอาจารย์มั่น
 

    อันที่จริง  สมควรจะเล่าถึงความน่าขายหน้าของพระผู้น้อยผู้หนึ่งไว้ให้เป็นอนุสรณ์  ณ  ที่นี้ด้วยจะได้ทำให้เข้าใจได้ง่ายเข้าว่า  พระที่เข้ารับการอบรมกับท่านอาจารย์ใหญ่มั่นนั้น  ควรจะต้องยิ่งสำรวมกาย  สำรวมใจ  ตั้งสติระมัดระวังมิให้พลั้งเผลอเพิ่มขึ้นเพียงไร  

      เมื่อพระน้อยองค์นั้นไปอยู่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ ๆ ใจก็คิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า  เขาเล่าลือกันว่า  ท่านอาจารย์ของเราเป็นพระอรหันต์เราก็ไม่ทราบว่า  จริงหรือไม่  ถ้าเป็นอรหันต์จริงคืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย 

      ในคืนวันนั้นเอง  พอพระน้อยผู้นั้นภาวนา  ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านอาจารย์ใหญ่เดินจงกรมอยู่บนอากาศและแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา  และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน 

      พระน้อยผู้นั้นจึงยกมือไหว้ท่าน  และว่าเชื่อแล้ว   อย่างไรก็ดี  หลังจากวันนั้น  พระน้อยก็เกิดคิดขึ้นมาอย่างคนโง่อีกว่า  เอ....เขาว่า  ท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคน  จริงไหมหนอ ? เราน่าจะทดลองดู  ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา   ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ 

      พอคิดได้ประเดี๋ยวเดียว  ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา  และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของพระน้อยองค์นั้น   พร้อมกับเสียงของท่านเอ็ดลั่นว่า “ ท่าน....ทำไมจึงไปคิดอย่างนั้น  นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์  รำคาญเรานี่ “   

      คืนนั้น  แม้จะตัวสั่น  กลัวแสนกลัว  แต่ต่อมาพระน้อยองค์นั้น  ก็ยังดื้อไม่หาย  คืนหลังก็เกิดความคิดขึ้นอีก 

      “ ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่  เป็นผู้รู้วาระจิตของเราเราบิณฑบาตได้อาหารมา  ขอให้ท่านรอเราทุกวัน ๆ ขออย่าเพิ่งฉันจนกว่าเราจะหย่อนบาตรท่านก่อน “ 

      เป็นธรรมดาที่พระทั้งหลาย  พอบิณฑบาตได้ก็จะเลือกสรรอาหารอย่างเลิศอย่างดีที่สุที่บิณฑบาตได้มา  สำหรับไปใส่บาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพวันนั้นพระน้อยหัวดื้อองค์นั้นก็พยายามประวิงเวลากว่าจะนำอาหารไปใส่บาตรท่าน  ก็ออกจะล่าช้ากว่าเคย  จนกระทั่งหมู่เพื่อนใส่บาตรกันหมดแล้ว  จึงค่อย ๆ  ไปใส่บาตรต่อมาภายหลัง  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็มักจะมีเหตุช้าไปด้วย  จนพระน้อยองค์นั้นหย่อนบาตรแล้ว  ท่านจึงเริ่มฉัน  เป็นเช่นนั้นอยู่หลายวันอยู่  และพระน้อยองค์นั้นก็ชักจะได้ใจ  มักอ้อยอิ่งอยู่ทุกวัน  จนเช้าวันหนึ่งท่านคงเหลืออดเหลือทนเต็มที่  ท่านจึงออกปาก 

      “ ท่านจวน  อย่าทำอย่างนั้น  ผมรำคาญ  ให้ผมรอทุกวัน  ๆ ทีนี้ผมไม่รออีกแล้วนะ " 

      เล่ามาแค่นี้  คงจะทราบแล้วว่า  พระน้อยหัวดื้อผู้นั้นคือใคร  
 

    ในพรรษาที่อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นนั้นคืนหนึ่งข้าพเจ้าตั้งใจภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ตั้งแต่ปฐมยามคือยามค่ำเป็นต้นไป  หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว  ก็เข้าที่นั่งในกลด  อธิษฐานนั่งในกลดตั้งใจจะภาวนาไม่นอนตลอดคืน  พอจิตค่อยสงบลงๆ ก็เกิดนิมิตผุดขึ้นปรากฏในใจเป็นตัวอักขระบาลีอย่างชัดแจ้งว่า  “   ปททฺทา  ปททฺโท  ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตแปลอยู่ถึง  3  ครั้ง  จึงแปลได้ว่า  “ อย่าท้อถอยไปในทางอื่น  แล้วปรากฏว่า  กายของตนไหวไปเลย  จากนั้นจิตก็รวมลงสู่ภวังค์  ถึงจิตเดิมทีเดียว  

      ความจริงขณะนั้น  ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้ว่า  จิตสู่ภวังค์และจิตเดิมเป็นอย่างไร  รู้แต่ว่า  เมื่อจิตรวมลง  ใสบริสุทธิ์หมดจด  หาสิ่งที่เปรียบได้ยากและแสนที่จะสบายมากที่สุด  เพราะจิตชนิดนั้นเป็นจิตที่ปราศจากอารมณ์  อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ไม่มีอะไรเจือปน  

      จิตรวมอยู่อย่างนั้นตลอดคืนยันยุ่ง  จนรุ่งเช้า  จิตจึงถอนออกรู้สึกเบิกบานทั้งกายและใจ  มีความปิติเหมือนกับตนลอยอยู่ในอากาศ   เวลาเดินไปเดินมา  ก็รู้สึกเบากายเบาใจที่สุด 

      ในระยะที่จิตรวมลงไปพักอยู่เฉพาะจิต  ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเจือปนนั้นเป็นจิตที่ใสบริสุทธิ์  วางเวทนา  ความเจ็บปวดรวดร้าวไม่มีปรากฏแก่จิตเลย  คือจิตแยกออกจากธาตุ  ไม่เจือปนอยู่กับธาตุ  อยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ   จึงไม่มีเวทนา  จิตรวมอยู่ตลอดทั้งคืนจนสว่าง  จึงถอนพอดีได้เวลาทำกิจวัตรในตอนเช้า  จัดเสนาสนะเตรียมเรื่องการบิณฑบาตร  แม้จิตจะถอนแล้วก็ตาม  แต่ความรู้สึกเบากาย  เบาใจ  ปลอดโปร่งโล่งสบาย  ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม   ข้าพเจ้าเดินไปมามีความรู้สึกคล้ายกับเดินอยู่บนอากาศ  เย็นกาย  เย็นใจ  เป็นอยู่อย่างนั้นหลายวัน 

      ได้โอกาสวันหนึ่งตอนพลบค่ำ  พระเณรทั้งหลายทยอยกันขึ้นไปรับโอวาทท่านพระอาจารย์มั่น  ข้าพเจ้าก็เลยขอโอกาส  กราบเรียนเล่าเรื่องที่เป็นมาถวายให้ท่านฟัง  ทุกคืนจิตมันเป็นอย่างนั้น  ท่านพระอาจารย์มั่นฟังแล้วก็ทดสอบดู  โดยนั่งกำหนดจิตพิจารณาพักหนึ่งพอสมควร  คือ  ท่านจะตรวจดูจิตของข้าพเจ้าว่าจะเป็นจริงหรือไม่  พอตรวจดูพักหนึ่ง  ท่านก็เปล่งอุทานขึ้นว่า “ อ้อ...จิตท่านจวนนี่  รวมทีเดียวถึงฐีติจิตคือจิตคือจิตเดิมเลยทีเดียว “  ท่านชมเชยว่า  ดีนัก  ถ้ารวมอย่างนี้จะได้กำลังใหญ่  แต่ว่าถ้าสติตัวนี้อ่อน  กำลังก็จะไม่มีข้าพเจ้าก็เลยกราบเรียนต่อไปว่า  ก่อนจิตรวม  ได้เกิดนิมิตคาถา  “ ปททฺทา  ปททฺโท “  ขอนิมนต์ให้ท่านแปลให้ฟัง  ท่านพระอาจารย์มั่นเลยบอกว่า  “ แปลให้กันไม่ได้หรอก  สมบัติใครสมบัติมัน  คนอื่นแปลให้ไม่ได้  ต้องแปลเอาเอง “ 

      ท่านว่าอย่างนั้น  ความจริงเป็นอุบายของท่านต้องการให้เราใช้ปัญญาแปลให้ได้เอง  นับว่าท่านใช้อุบายคมคายหลักแหลมมากที่สุด
 

    ต่อจากนั้น  ท่านได้ย้อนมาพูดถึงเรื่องจิตรวมว่าก่อนที่จิตจะรวม  บางคนก็ปรากฏว่า  กายของตนหวั่นไหวสะทกสะท้านไป  บางคนก็จะมีภาพนิมิตต่าง ๆ ปรากฏขึ้น  เป็นภาพภายนอกก็มี  แสดงอุบายภายในให้ปรากฏขึ้นก็มี  แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล  ถ้าเป็นผู้ไม่มีสติก็จะมัวเพลิดเพลินลุ่มหลงอยู่ในนิมิตภาพนั้น ๆ จิตก็จะไม่รวม  หากถอนออกเลย  ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ไม่มีกำลัง  แต่ถ้าเป็นผู้มีสติดี  หากมีนิมิตภายนอก  หรือธรรมผุดขึ้นภายใน  ก็ให้น้อมเข้ามาเป็นอุบายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน จิตก็จะรวมลงถึงฐีติจิต  เมื่อจิตรวมลงก็ให้มีสติรู้ว่าจิตของเรารวม  และไม่รู้ว่า  จิตของเรารวมลงอิงอามิสคือกัมมัฏฐานหรือไม่  หรืออยู่เฉพาะจิตล้วน ๆ ก็ให้รู้  อย่าไปบังคับให้จิตรวม  และจิตรวมแล้ว  อย่าบังคับให้จิตถอนขึ้นปล่อยให้จิตรวมเอง  ปล่อยให้จิตถอนเอง  และเมื่อจิตถอนหรือก่อนจะถอน  ชอบมีนิมิตแทรกขึ้นทั้งนิมิตภายนอกและนิมิตภายใน  ก็ให้มีสติรู้อยู่ว่านั้นเป็นเรื่องของนิมิตหรือเป็นเรื่องของอุบายอย่าไปตามนิมิตหรืออุบายนั้น ๆ ให้น้อมเข้ามาเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน  ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  แล้วก็ให้พิจารณากำหนดกัมมัฏฐานที่ตนเคยกำหนดไว้อย่าละเลย  ละทิ้งด้วยความมีสติอยู่ 

      ทุกระยะที่จิตรวม  จิตถอน  ถ้าหัดทำให้ได้อย่างนี้  ต่อไปจะเป็น  “ สันทิฏฐิโก “  คือเป็นผู้รู้เองเห็นเอง  แจ้งชัดขึ้นจะตัดความเคลือบแคลงสงสัยไม่สงสัยลังเลในพระรัตนตรัยต่อไป
 

    นี่เป็นโอวาทคำแนะนำของท่านพระอาจารย์มั่น   ภูริทัตตะมหาเถระ

      เมื่อข้าพเจ้าได้รับโอวาทจากท่านเช่นนั้น  ก็ยิ่งทวีความตั้งใจทำความเพียรเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น  รู้สึกเหมือนกับว่า  ได้มีผู้วิเศษมาชี้ประตูสมบัติให้เราแล้ว  ที่เราจะเปิดประตูก้าวเข้าไป  หยิบเอาสมบัติมาได้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่ความเพียร  ความตั้งใจเอาจริงเอาจังของเราเท่านั้นตลอดเวลาหนึ่งปีเต็มที่อยู่ร่วมกับท่าน  ตั้งแต่หลังออกพรรษา  5  วันปีหนึ่ง  ไปบรรจบหลังออกพรรษาของอีกปีหนึ่ง  ข้าพเจ้าก็เร่งคำความเพียรอย่างเต็มสติกำลังของตน  เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นก็คงจะเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของข้าพเจ้าอยู่เหมือนกัน  วันหนึ่งท่านก็ได้กล่าวว่า  ท่านได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้วได้ความเป็นธรรมว่า

กาเยนะ  วาจายะ  วะเจตะวิสุทธิยา
ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติ

      เมื่อออกพรรษา  เสร็จกิจทุกอย่าง  ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านอาจารย์ออกวิเวกธุดงค์  ท่านก็เลยแนะนำให้ไปอยู่ถ้ำยาง  บ้านลาดกะเฌอ  จังหวัดสกลนครทางสายกาฬสินธุ์  สมัยนั้นบ้านลาดกะเฌอ  ยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีเพียงสิบกว่าหลังคาเรือน  ชาวบ้านเป็นพวกชาวป่าชาวเขา  การคมนาคมติดต่อกับโลกภายนอก  ไม่มีทางรถ  เป็นทางเดินด้วยเท้าเท่านั้น  ข้าพเจ้ามุ่งหน้าไปสู่ถ้ำนั้น  ปรากฏว่าตัวถ้ำยางอยู่ห่างจากหมู่บ้านราว  2  กิโลเมตร  เป็นที่อับชื้น  อากาศเยือกเย็น  ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  

      ข้าพเจ้าได้ปรารภความเพียรอยู่ในถ้ำนั้น  ถึง  7 วัน  7  คืน  โดยไม่ได้หลับนอนเลย  อาหารที่ฉันลงไปกลางคืนก็ถ่ายออกหมด  เพราะอากาศเย็นชื้นมาก  จิตมักจะรวมโดยง่าย  เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ มากมาย  บางครั้งเดินจงกรมอยู่  จิตรวม  ก็หยุดเดิน  ยืนกำหนดจิตปล่อยให้รวม  เมื่อจิตถอนจากการรวมแล้ว  จึงเดินจงกรมต่อไป  ส่วนนิมิตภาพภายนอกและภายในที่ปรากฏในถ้ำนั้น  ก็มีเกิดขึ้นเสมอ  เมื่อกำหนดพิจารณาดูจิตของตนแล้ว  จึงรู้ว่า  นิมิตที่เกิดขึ้นนี้  ก็เนื่องจากพลังของจิตที่แส่ส่ายไปนั่นเอง  แม้ต่อมาออกจากถ้ำมาพักอยู่ที่วัดล่างวัดหนึ่ง  ขณะที่ภาวนาก็ปรากฏนิมิตเห็นหญิงมาเปลือยกายนั่งอยู่ที่ใต้กุฏิ  ครั้งแรกข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเปรต  ก็สวดมนตร์อุทิศส่วนบุญกุศลให้แต่ภาพนั้นก็ยังไม่หายไป  ยังคงปรากฏอยู่  เลยกำหนดจิตพิจารณาใหม่  ก็รู้ว่าเกิดจากพลังของจิตจึงพิจารณาเพ่งดูจิตของตน  ภาพนั้นก็เลยหายไป 

      จึงรู้และเข้าใจว่า  ภาพต่าง ๆ  ที่แสดงทั้งภาพภายนอกและภาพภายในที่เป็นนิมิตปรากฏให้เห็นในขณะนั่งหลับตาภาวนานั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของจิตที่แสดงรัศมีหรือพลังออกไปหลอกลวงต่าง ๆ  เท่านั้น  ผู้ไม่มีสติปัญญา  ก็อาจจะลุ่มหลงไปตามภาพนิมิตนั้น ๆ เป็นตุให้พลั้งเผลอ  และที่สุดก็สำคัญตนว่า  ได้ญาณ  มีความรู้อย่างนั้น  อย่างนี้  มีหูทิพย์  ตาทิพย์เกิดขึ้น  เกิดเป็นทิฎฐิ  วิปลาสไปก็ได้  อาจจะเป็นเหตุให้ธรรมะแตกไปก็ได้  

      จากถ้ำยาง  บ้านลาดกะเฌอ  ข้าพเจ้าก็ออกเดินธุดงค์ไปแถวภูพาน  จังหวัดสกลนคร  ไปพบท่านพระอาจารย์มหาทองสุข  สุจิตโต  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสสมัยนั้น  และได้ชวนท่านไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์กงมา  จิรปุญโญ  ซึ่งกำลังอยู่ที่บ้านห้วยหีบพักอยู่กับท่านพระอาจารย์มหาทองสุข  และท่านพระอาจารย์กงมา  ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมรับการอบรมจากท่านพอประมาณแล้ว  ข้าพเจ้าก็กราบลาท่านออกธุดงค์ต่อไป  โดยเที่ยวไปตามแถวภูพาน  พักผ่อนวิเวกไปโดยลำดับ  มุ่งหน้าไปทางจังหวัดบ้านเกิด  คืออุบลราชธานี  

      ถึงอุบลราชธานีแล้ว  กลับเกิดความคิดอยากจะไปเที่ยวรุกขมูลทางภาคเหนือคือจังหวัดเชียงใหม่บ้างจึงได้เดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟอำเภอวารินชำราบ  ก่อนออกเดินทางคืนนั้นได้ไปพักที่วัดป่าวารินได้พบท่านพระอาจารย์ลี  ธมฺมธโร  จึงเข้ากราบนมัสการและฟังธรรมะจากท่านพอสมควรแล้วก็ลาท่าน  รุ่งเช้าจึงขึ้นรถไฟสายอุบลจากวารินชำราบ  มาต่อที่บ้านภาชีไปถึงจังหวัดเชียงใหม่
 




อัตตโนประวัติหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ

คลิปวีดีโอประวัติหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ article
ชาติกำเนิดปฐมวัย article
พบพระธุดงค์และได้หนังสือไตรสรณาคมน์ article
ออกจากโรงเรียนและรู้จักรักผู้หญิง article
แสวงธรรม article
ออกบวชเป็นพระฝ่ายธรรมยุต article
พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2486 วัดป่าบ้านพอก หนองคอนทั้ง อำเภอเลิงนกทา article
ออกเดินธุดงค์เป็นครั้งแรก article
พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2487 วัดทุ่ง บ้านหนองอีนิน อำเภอเลิงนกทา article
พรรษาที่ 3 พ.ศ. 2488 วัดบ้านนาจิก ดอนเมือง ตำบลหนองปลิง article
พรรษาที่ 5และ6 พ.ศ. 2490 จำพรรษา ณ จังหวัดเชียงใหม่ article
พรรษาที่ 7 พ.ศ.2492 วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว สงเคราะห์โยมมารดา article
พรรษาที่ 8 พ.ศ.2493 จำพรรษาที่ถ้ำพวง อ.ส่องดาว สกลนคร article
เอากระดูกช้างมาเป็นยาแก้โง่ article
พรรษาที่ 9 พ.ศ. 2494 ภูสะโกฏ บ้านหนองเม็ก นามน article
พรรษา 10 พ.ศ 2495 จำพรรษาที่ดอนกระพุง ชายป่าดงหม้อทอง อ.วานรนิวาส article
พรรษาที่ 11,13 พ.ศ. 2496 , 2498 จำพรรษาที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส article
พรรษาที่ 14 พ.ศ.2499 จำพรรษาที่ ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว article
พรรษาที่ 15 ถึง 16 พ.ศ. 2500 ถึง 2501 กลับไปจำพรรษาที่ ดงหม้อทอง article
พรรษาที่ 17 พ.ศ.2502 จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ ดงศรีชมภู อ.โพนพิสัย article
พรรษาที่ 18 ถึง 20 พ.ศ. 2503 ถึง 2505 จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ ( ต่อ ) article
พรรษาที่ 21 พ.ศ.2506 จำพรรษาที่ภูสิงห์น้อย ( ภูกิ่ว ) article
พรรษาที่ 22 ถึง 25 พ.ศ.2507 ถึง 2510 จำพรรษาที่ถ้ำบูชา ตาดสะอาม ภูวัว article
พรรษาที่ 26 พ.ศ.2511 จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี article
พรรษาที่ 27 ถึง 38 พ.ศ. 2512 ถึง 2523 จำพรรษาที่ภูทอก วัดเจติยาคิรีวิหาร อำเภอบึงกาฬ article
เล่าประวัติด้วยเสียงของท่านเอง article



dot
พระมหาธาตุ,พระบรมสารีริกธาตุ
dot
bulletเรื่องของพระบรมสารีริกธาตุ
dot
พระอสีติและพระอรหันตธาตุ
dot
dot
พระธาตุบูรพาจารย์ในยุคปัจจุบัน
dot
dot
เจดีย์พระธาตุทั่วไทยและทั่วโลก
dot
dot
หมวดหมู่สินค้า บุษบก บุษบกมาลา
dot
บุษบกมาลา
bulletบุษบกน่ารู้
bulletบุษบก BBC-02 A-B
bulletบุษบก BBC-04
bulletบุษบกมาลา
bulletบุษบก ขนาด 5 นิ้ว
bulletบุษบก ขนาด 6 นิ้ว
bulletบุษบก ขนาด 10 นิ้ว
bulletบุษบก ขนาด 15 นิ้ว
bulletบุษบก ขนาด 17 นิ้ว ปิดทอง
bulletบุษบก ขนาด 17 นิ้ว พ่นทอง
bulletบุษบก ขนาด 21 นิ้ว
bulletบุษบก ขนาด 25 นิ้ว
dot
หมวดหมู่สินค้า ผอบใส่พระธาตุ
dot
bulletผอบทรงโถน้ำมนต์
bulletผอบเลนส์ขยาย
bulletผอบขนาดเล็ก
bulletผอบ PC-07
bulletผอบ PC-09
bulletผอบ PC-15
bulletผอบทรงสูง PTC-12
bulletผอบทรงสูง PTC-15
bulletผอบขนาดใหญ่ 9 นิ้ว
bulletผอบแก้วคริสตัล
dot
หมวดหมู่สินค้า เจดีย์ใส่พระธาตุ
dot
bulletเจดีย์ JC-01
bulletเจดีย์ JC-02
bulletเจดีย์ JC-03
bulletเจดีย์ JC-05
bulletเจดีย์ JC-06
bulletเจดีย์ JC-07
bulletเจดีย์ JC-09
bulletเจดีย์ JC-12
bulletเจดีย์ JC-15
bulletเจดีย์ JC-22
bulletเจดีย์คริสตัล 5 นิ้ว
bulletเจดีย์ผอบ
dot
หมวดหมู่สินค้า งานลงยาโบราณ
dot
bulletงานลงยาประดับสั่งพิเศษ
bulletเจดีย์ฐานกลมลงยา
bulletเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมเล็ก
bulletเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมใหญ่
bulletโกศบรรจุอัฐิธาตุ
bulletแก้วทรงดอกบัวตูม
bulletแว่นแก้วเล็ก
bulletฐานแปดเหลี่ยมยอดเจดีย์
bulletแปดเหลี่ยมผอบ 12 เซน.
dot
หมวดหมู่สินค้า สั่งทำพิเศษ
dot
bulletงานประดับลายไทยพิเศษ




Copyright © 2010 All Rights Reserved.

ร้าน บุษบกทองคำ
ที่อยู่ :  เลขที่ 453 หมู่ 8 ถนน พาน -ป่าแดด.ตำบล :  สันติสุข อำเภอ : พาน
จังหวัด : เชียงราย     รหัสไปรษณีย์ : 57120
เบอร์โทร มือถือ :  0634246256
อีเมล : jedeethai@gmail.com
เว็บไซต์ :www.jedeethai.com