พรรษาที่ 27 ถึง 38 พ.ศ. 2512 ถึง 2523
จำพรรษาที่ภูทอก วัดเจติยาคิรีวิหาร
อำเภอบึงกาฬ
ปีแรกที่จำพรรษาที่ภูทอกนี้ มีพระ 3 องค์ผ้าขาวน้อย 1 องค์ ปลูกกระต๊อบชั่วคราวพออาศัยได้ 4 หลัง ทุกองค์ต่างพากันบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่เวลาพลบค่ำ ข้าพเจ้าก็ปีนขึ้นบนเขาเอาผ้ามัดเอวแล้วก็ปีนขึ้นตามเครือเขาเถาวัลย์ ตามรากไม้ ขึ้นไปนอนอยู่บนชั้นที่ 5 ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นถ้ำวิหารพระสมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่นเป็นถ้ำที่อาศัยของสัตว์ป่ามีเลียงผา เป็นต้น
ในระหว่างกลางพรรษาที่ 27 ได้พาญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาชั้นที่ 5 และชั้นที่ 6 จนสำเร็จทำอยู่ประมาณ 2 เดือนกับ 10 วัน จึงเสร็จเรียบร้อยทำให้ไม่ต้องอาศัยรากไม้เถาวัลย์อีกต่อไป การสร้างบันไดนี้สำเร็จในกลางพรรษา อาศัยศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันคนละเล็กละน้อย ช่วยกำลังแรงส่วนกำลังทรัพย์ไม่มี เพราะเขาเป็นคนยากคนจนเป็นคนชนบทไม่มีรายได้มีแต่กำลังศรัทธาความเชื่อถือในบุญกุศล ศรัทธาอยู่ในใจของเขา ทุกข์ยากอย่างไรเขาก็อุตส่าห์มาช่วยการงานของวัดอยู่ตลอดพรรษาด้วยน้ำพักน้ำแรงดังนี้ มาอยู่ภูทอกปีแรกถ้าไม่อดทนจริง ๆ ก็อยู่ไม่ได้ อดอยากข้าวปลาอาหารพระเณรเจ็บป่วย เป็นไข้ป่า ไม่มียาจะฉัน นับว่าละบากมากทีเดียว
กลางพรรษาปี 2512 ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเจติยาคีรีวิหาร ภูทอก นี้ ข้าพเจ้าได้เกิดสุบินนิมิตว่า ข้าพเจ้าได้ไปบิณฑบาตรที่ภูทอกใหญ่ ตามหน้าผา ข้าพเจ้าได้ครองผ้าห่มผ้าเป็นปริมณฑล แล้วก็สะพายบาตรอุ้มบาตร เดินเลียบไปตามหน้าผาอ้อมไปเรื่อยๆ เห็นแต่บานหน้าต่างปิดอยู่ตามหน้าผา มองไม่เห็นคนเลย ข้าพเจ้าเดินอ้อมไปอ้อมไป เลยไปหยุดยืนรำพึงอยู่ เอ....ทำไมมีแต่หน้าต่างปิด ไม่เห็นคนออกมาใส่บาตรเลย
รำพึงอยู่อึดใจหนึ่ง ก็เห็นคนเปิดหน้าต่างออกมาใส่บาตรข้าพเจ้า ดูเหมือนเขาจะเข้าใจได้ถึงความคิดของข้าพเจ้าที่ตั้งวิตกถามขึ้นว่า เขาเป็นใคร เขาก็ประกาศขึ้นมาเองว่า
" พวกผมนี้เป็นพวกบังบดขอรับ อยู่กันที่ภูทอกใหญ่ภูแจ่มจำรัส "
พวกบังบด คือ พวกภุมมเทวดา ที่เขามีศีลห้าเป็นประจำ “ ชื่อเดิมหรือชื่อจริงของภูทอกใหญ่นี้ เรียกกันว่า ภูแจ่มจำรัส เขาอธิบายให้ข้าพเจ้าฟัง แต่ก่อนนี้มีพวกฤาษีชีไพรมาบำเพ็ญพรตภาวนากันที่ภูเขาแจ่มจำรัสนี้มาก "
ข้าพเจ้ารอเขาใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว ก็ถามเขาเป็นเชิงคุยว่า " ทำไมจึงรู้ว่าอาตมามาบิณฑบาต "
เขาตอบยิ้ม ๆ ทันที
" รู้ชี จะไม่รู้ได้อย่างไร "
" ปิดหน้าต่างอยู่อย่างนี้ รู้ได้รึ "
" รู้ครับ " เขาว่า
รู้ด้วยอะไรเขาบอกว่า " รู้ด้วยกลิ่น ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า "
" กลิ่นเป็นอย่างไร " ข้าพเจ้าซัก
" กลิ่นหอมขอรับ ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า ก็เลยพากันเปิดหน้าต่างมาใส่บาตรพระผู้เป็นเจ้ากัน " เขาชี้แจงให้ข้าพเจ้าฟังด้วยสีหน้าอันเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสศรัทธาแล้วก็กล่าวต่อไปอีก อันนี้จะเป็นเชิงสรรเสริญหรืออะไรก็ไม่ทราบ ...เขาบอกว่า พระพวกนี้เป็นพระที่ปฏิบัติดีสมควร พวกเราจึงพร้อมใจกันมาใส่บาตร
พอพวกเขาใส่บาตรข้าพเจ้าก็กลับ พอดีรู้สึกตัวตื่นขึ้น พิจารณาดูนิมิตนั้นเห็นแปลก ก็เล่าให้หมู่เพื่อนฝูงฟังประหลาดที่ว่าเช้าวันนั้นอาหารที่บิณฑบาตได้ ขบฉันรู้สึกว่ารสเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้มีใครอื่นมาใส่บาตรจริง ๆ มีแต่ชาวบ้านเท่านั้น อาหารก็เป็นอาหารพื้น ๆ เป็นปลาร้า น้ำพริกอะไรพวกนั้นตามปกติของเขา แต่เมื่อฉันไปกลับเอร็ดอร่อยราวกับอาหารทิพย์ ทั้ง ๆ ที่อาหารอันวิจิตรพิสดารที่เขาถวายนั้นอยู่ในความฝันต่างหาก
ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้มีหูทิพย์ ตาทิพย์อะไร ฝันเฉย ๆ ก็มาเล่าสู่กันฟัง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจเล่าไปตามที่เกินฝันขึ้น เรียกว่า ฝันในนิมิต หรือนิมิตในฝันก็ได้ข้าพเจ้าก็ไม่ยึดถือว่าเป็นอะไรหรอก เป็นธรรมดาคนเรานอนก็ฝันเท่านั้นเอง ไม่ฝันอย่างหนึ่ง ก็ฝันอีกอย่างหนึ่ง จะจริงไม่จริงก็ยกไว้
พรรษาแรก พระเณรเจ็บไข้กันมาก บางองค์ก็บอกว่า เทวดาประจำภูเขามาหลอกหลอน ดึงขาเรียกปลุกดึง ๆ ให้ลุกขึ้นทำความเพียร บางทีก็ไล่ให้หนีเพราะมาแย่งวิมานของเขา ข้าพเจ้าก็ได้นิมิตบางประการเหมือนกัน จึงพยายามตักเตือนพระเณรให้มีศีลบริสุทธิ์ และบำเพ็ญภาวนาแผ่เมตตาให้ทำความเพียรอย่าได้ประมาท เพราะศีล สมาธิ ภาวนานั้นเป็นเกราะกำบังของผู้บำเพ็ญพรต ภายหลังก็เกิดนิมิต มีพวกเทวดามาหาข้าพเจ้าและบอกว่า “ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรับไว้รักษา พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง
ในนิมิตนั้น เขาได้ขอคำมั่นสัญญาไว้อีกว่า เมื่อพวกเขาลงไปอยู่ชั้นล่างแล้ว ขอให้ข้าพเจ้าบอกประกาศแก่มนุษย์ที่จะมาเที่ยวภูเขาลูกนี้ต่อไปว่า ขออย่า ได้กล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงอึกทึก อย่าถ่มน้ำสายลงไปข้างล่าง อย่าขว้างปาหรือทิ้งเศษขยะไว้ ข้างบนเขา อย่าฆ่าสัตว์...เท่านี้เขาก็พอใจแล้ว
ข้าพเจ้าตื่นจากฝันแล้วก็นั่งพิจารณาอยู่ ก็รู้สึกว่าคำขอของพวกเทวดานั้นแยบคายดี จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม แต่ก็น่าจะเป็นข้อที่กัลยาณชนทุกคนควรจะปฏิบัติอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีเทวดามาขอร้องเลย มนุษย์ผู้เป็นผู้ดีมีมรรยาทของสังคมชาวโลกก็น่าจะปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ดี วันนั้นเองระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมิได้ปริปากเล่าอะไรให้ใครฟัง พวกชาวบ้านก็มาเล่าให้ฟังว่าพวกเขาต่างฝันกันว่ามีเทวดามาบอกว่า จะมอบภูเขาให้ท่านอาจารย์จวนรักษา พวกเขาจะลงไปอยู่ข้างล่างแทน
แปลกเหมือนกัน ที่บังเอิญหลายคนมาฝันตรงกัน
ตกฤดูแล้ง พ.ศ. 2513 ได้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบเพิ่มขึ้นอีก 2 ทำนบเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้เป็น 3 ตอน มีประชาชนจากฝั่งประเทศลาวชื่อนายบุญที อยู่ที่เวียงจันทน์ ได้มีศรัทธามาสร้างพระประธานไว้ที่ถ้ำวิหารพระชั้นที่ 5 มูลค่าประมาณ 1 หมื่นบาท ต่อมาได้มีศรัทธาจากที่ต่าง ๆ ทยอยกันมาร่วมกันสร้างโรงฉันและศาลาชั้นที่ 5 มูลค่า ประมาณ 1 หมื่นบาท พอเป็นที่ได้อาศัยคุ้มแดดคุ้มฝน ส่วนศาลานั้นพอได้อาศัยฉันจังหันที่ศาลาข้างล่าง
เมื่อภายหลังมีศรัทธาเพิ่มขึ้น เช่น จากบึงกาฬหนองคาย อุดร สกลนคร นครพนม ขอนแก่น นครราชสีมา ตลอดจนกรุงเทพมหานครและอุบลราชธานีจึงได้ขยายศาลาโรงฉันข้างล่างให้กว้างออกไป และได้ขยายศาลาถ้ำวิหารพระชั้นที่ 5 ให้กว้างขวางออกไปด้วย เพื่อเวลาประกอบศาสนกิจและสังฆกรรมจะได้ปฏิบัติได้โดยสะดวก
การสร้างศาลาโรงฉัน ศาลาชั้นบนและกุฏิที่อยู่ของพระนั้น ข้าพเจ้าได้พยายามทำแบบที่ให้ส่งเสริมธรรมชาติให้กลมกลืนกันไปกับธรรมชาติ เช่น บางแห่งก็บูรณะถ้ำธรรมชาติ ให้เป็นที่อยู่อาศัย บางแห่งก็ใช้หลังคาสังกะสีต่อเชื่อมกับหินปากถ้ำ อาศัยผนังถ้ำส่วนหนึ่งเป็นฝาเป็นต้น นอกจากนั้นได้สร้างศาลา โรงครัวและกุฏิแม่ชี เพิ่มขึ้น
ปัญหาเรื่องน้ำใช้บนยอดเขาเป็นสิ่งสำคัญ ข้าพเจ้าได้พยายามขุดบ่อน้ำหลายแห่ง บังเอิญได้พบบ่อน้ำซึมผุดขึ้นมาจากซอกหิน เป็นตาน้ำขนาดแรง คุณหมอขันธ์ เทศประสิทธิ และคุณหมอประพักตร์ โสฬสจินดา ได้ร่วมกันสร้างบาตรน้ำมนตร์ขนาดใหญ่ไว้รองน้ำซึมที่หยดมาจากยอดเขา คุณมานพ สุภาพันธ์ คุณประชา ตันศิริได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพตั้งถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดเครื่องสูบน้ำขึ้นที่หลังเขา เป็นถังแรก ในขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้บริจาคเงิน 2,000 บาท สร้างส้วม และห้องน้ำไว้สำหรับประชาชน
ในพ.ศ.2513 – 2514 ได้ทำสะพานรอบเขาชั้นที่ 5 พ.ศ. 2515 ไม่ได้ทำสะพาน แต่ไม่ได้ทำทำนบกั้นน้ำเพิ่มขึ้นอีก พ.ศ. 2516 รื้อสะพานชั้นที่ 5 ออกเพราะครั้งก่อนทำไว้ไม่เสมอกัน มีสูงมีต่ำกว่ากัน รื้อออกทำทางเดินให้เสมอกัน และขยายให้กว้างขึ้นทำให้แน่นหนากว่าเดิม เพิ่มไม้ขึ้นอีก 3 ส่วน ซ่อมแซมสะพานของเก่าใช้เวลาทำอยู่ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จสิ้นเงินประมาณ 3 หมื่นบาท
พ.ศ. 2517 มีพระจำพรรษา 5 องค์ เณร 5 องค์ ได้พาหมู่คณะทำสะพานบนชั้นที่ 6 ทำอยู่ 3 เดือน ก็แล้วเสร็จสิ้นเงิน 35,000 บาท
ในปีนี้ ได้ทำสะพานชั้นที่ 4 แต่ไม่ได้ทำรอบเขาทำไว้ครึ่งเขา เฉพาะทางด้านทิศตะวันตกส่วนสะพานชั้นที่ 4 ทางด้านทิศตะวันออกนั้นได้จ้างชาวบ้านทำในปี 2520 สิ้นเงินประมาณ 20,000 บาททำอยู่ 2 เดือนจึงแล้วเสร็จ ทำต่อลงมาจากชั้นที่ 5 ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
พ.ศ. 2519 ได้ทำทำนบกั้นน้ำในเขตวัด โดยจ้างแทรคเตอร์ชาวบ้านมาทำสิ้นเงิน 16,000 บาท
จากปี 2519 เป็นต้นไป ศรัทธาญาติโยมก็ได้ทยอยกันมามากขึ้น โดยเฉพาะจากกรุงเทพมหานคร จะมากันบ่อยครั้งขึ้น จำนวนมากขึ้นศรัทธาเพิ่มขึ้น บริจาคทรัพย์สมบัติ บริจาคกำลังทรัพย์ กำลังแรง ช่วยเหลือเจือจุนกันไป การงานก็ได้สำเร็จลุล่วงมาดังที่พวกเราได้เห็นกันนั้นมีศรัทธาจากลาดพร้าวกรุงเทพ ฯ ขอสร้างถังน้ำบนเขาชั้นที่ 5 อีกหลายถัง เพื่อให้พระเณรได้มีน้ำดื่มใช้ตลอดปี และได้ขอสร้างห้องน้ำ ห้องส้วมบนเขาชั้นที่ 5 เพิ่มขึ้นอีก 2 คราวรวม 5 ห้อง ด้วยเห็นความลำบากของญาติโยมที่จะขึ้นไปค้างฟังธรรมบนถ้ำวิหารพระชั้นที่ 5
สำหรับกุฏิถาวรบนเขาซึ่งแต่เดิมไม่มี เพราะพระเณรจะใช้แต่เงื้อมถ้ำเป็นที่พัก หรือใช้ไม้ตีกำบังกั้นชั่วคราวนั้น ก็ได้มีศรัทธาขอสร้างให้เป็นการถาวร โดยข้าพเจ้าออกแบบให้มีระเบียงสามด้านเป็นทางจงกรมพร้อม คุณแม่แฉล้ม ชาญสงคราม ชาลีจันทร์ มารดาคุณสุรีพันธุ์ มณีวัต ก็ได้บริจาคเงินสร้างกุฏิสงฆ์อาพาธพร้อมห้องน้ำบนเขาชั้นที่ 2 เป็นหลังแรก พร้อมกันนั้นลูกสาวและสามีคือคุณวิลาศ มณีวัต ก็ได้บริจาคสร้างอีกหลังหนึ่ง ณ เขาชั้นที่ 2 ณ จุดที่เคยเป็นกุฏิชั่วคราวที่ข้าพเจ้าแรกมาพักเมื่อปี 2512 ต่อมาคุณบุญยิ่ง ลืออำรุง ได้บริจาคสร้างอีกหลังหนึ่งบนพลาญหินชั้นที่ 2 และคุณพรรณี เกตุมณี ได้บริจาคอีก 100,000 บาท เพื่อสร้างกุฏิให้เป็นที่พักของข้าพเจ้าโดยจัดสร้างต่อขยายออกไปจากศาลาถ้ำวิหารพระเป็นที่พัก 2 ชั้น
วัดได้จัดสร้างกุฏิที่พักสำหรับพระอาคันตุกะ บนเขาชั้นที่ 5 เป็นเรือนยาวขนาดสองห้อง สร้างกุฏิแม่ชีเพิ่มเติมอีก เพราะระยะหลังได้มีศรัทธาญาติโยมมาค้างที่วัด บางขณะ บางคืน ถึงสามร้อยคนก็มี ถึงสี่ร้อยคนก็มี วัดต้องอาศัยแม่ชีช่วยจัดอาหารเลี้ยงศรัทธาทั้งหลาย จึงต้องขยับขยายให้แม่ชีได้มีที่พักพอเหมาะพอควรกว้างขวางขึ้น และเมื่อต่อมาวัดได้เริ่มสร้างกุฏิพระเพิ่มบนโขดหินเขาชั้นที่ 2 อีก 2 หลัง ศิษย์ที่บ้านทรงไทยลาดพร้าวซึ่งมีคุณสุรีพันธุ์เป็นหัวหน้าก็ขอเป็นเจ้าภาพร่วมกับวัดด้วย
ในปี 2522 เมื่อมีผ้าป่ามาพ้องกันหลายคณะ ศาลาที่พักบนเขาดูแคบไปถนัดใจ ศรัทธาจากกรุงเทพฯคือคุณสุรีพันธุ์ มณีวัต จึงถวายปัจจัยให้สร้างกุฏิที่พักบนชะง่อนเขา ชั้นที่ 5 อีก 1 หลังเป็นที่โล่งโปร่งสบายใครมาเห็นมาพักก็ล้วนชอบใจ เพราะได้ตากอากาศดี
เมื่อได้บำรุงสิ่งก่อสร้างในวัดให้เห็นประโยชน์แล้ว ก็ได้ช่วยทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านละแวกใกล้วัดด้วย ตั้งแต่ปี 2521 – 2522 – 2523 ได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้ชาวบ้าน 6 ทำนบ เพื่อในการเพาะปลูกทำไร่นา ทำนบละหมื่นก็มี 2 หมื่นก็มี 3 หมื่นก็มี 5 หมื่นก็มี ทำถนนเป็นทำนบฝายกั้นน้ำระหว่างภูทอกน้อยและภูแจ่มจำรัสอีกร่วม 2 แสน ทั้งหมดสิ้นเงินวัดไป 4 แสน 5 แสนแล้ว เฉพาะทำนบใหญ่กั้นเก็บน้ำระหว่างภูทอกน้อยและภูแจ่มจำรัสนั้น กรมชลประทานของรัฐบาล เขามาช่วยรับช่วงเอาไปปรับปรุงเสริมสร้างค้นทำนบให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้น รัฐบาลให้งบประมาณมา 2 ล้านบาท เดี๋ยวนี้ทำเสร็จแล้ว เก็บน้ำได้มาก เก็บน้ำได้ลึกถึง 10 กว่าเมตร สามมารถจะใช้ประโยชน์ในการเพาะพันธุ์ปลา และระบายน้ำให้พวกชาวไร่ชาวนาอย่างสะดวกสบายทีเดียว
พ.ศ. 2523 จะเริ่มทำถนนรอบภูเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่หรือภูแจ่มจำรัสและภูสิงห์น้อยซึ่งต่างเป็นสำนักสงฆ์ของวัด ข้าพเจ้าได้ให้เกรดทางรอบเขตวัดไว้แล้ว ถ้าไม่ทำ ชาวบ้านบุกรุกเข้ามาถึงเชิงเขาก็จะลำบาก ตัดไม้ เผาไม้ ฆ่าสัตว์ สัตว์อยู่ในเขาก็ยังมีอีกมาก กวาง เก้ง เลียงผา หมี ลิง สุกรป่ายังมีอีกมาก พวกนก พวกกระต่าย ไก่ป่า ก็ยังมีเช่นกันสมควรจะสงวนไว้จึงได้จ้างรถแทร็กเตอร์ มาเกรดทางรอบเขาแล้วปิดทำนบน้ำเสียด้วย ที่ไหนเป็นห้วยก็พูนดิน เสริมสร้างเป็นค้นทำนบเพื่อให้สัตว์ป่าได้อาศัยอาบ อาศัยกิน ตลอดถึงมนุษย์ก็จะได้ใช้สอยทำไร่นา เพาะปลูกพืชผลโดยไม่อดน้ำ ไม่ให้คนรุกล้ำเข้ามาทำกินในเขตทำนบน้ำ ถ้ำน้ำมีเหลือเฟือก็จะได้ระบายช่วยเหลือชาวนาชาวไร่โดยไม่ติดขัด นี่เริ่มในปี 2523 จ้างรถแทรกเตอร์มาทำงานดังนี้ ( เมื่อท่านมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดก็ได้ทำจนเสร็จ รวมทั้งสร้างทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย ....ผู้รวบรวม )
เมื่อมาอยู่ครั้งแรกที่ถ้ำเชิงเขาในฤดูแล้งปี 2512 ข้าพเจ้าได้ชวนญาติโยมตัดทางจากภูทอกไปบ้านดอนเสียด รถเดินได้สบาย เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้เป็นเส้นทางสัญจรกันอยู่ หลังจากนั้นเมื่อญาติโยมเขาทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาอยู่ที่ภูทอก เขาก็เลยอพยพตามมาอยู่ ทำมาหากินด้วย เป็นปึกแผ่นแน่นหนา จากเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 10 หลังคาเรือน ปัจจุบันนี้มีประมาณกว่า 200 ครอบครัวแล้ว มาอยู่ครั้งแรกได้พาญาติโยมถากถางป่า เพื่อระบายอากาศให้ปลอดโปร่ง บ้านนาคำแคนนี้ ตั้งหมู่บ้านกันก่อนสร้างวัด 2 ปี คือในปี 2510 ส่วนวัดเจติยาคิรีวิหาร ( ภูทอก ) มาสร้างในปี 2512 คนที่มาอยู่ส่วนมากเป็นคนมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มี ขอนแก่นก็มี ร้อยเอ็ดก็มี อุบลราชธานีก็มี อุดรธานีก็มี สกลนครก็มีเป็นคนมาจากหลายจังหวัดที่มาอยู่บ้านนาคำแคน
ในสมัยก่อน แถบภูสิงห์ ภูวัว ภูทอก นี้ เป็นป่าเป็นดงทึบ มีสิงห์สาราสัตว์นานาชนิดมาก ไม่ค่อยมีหมู่บ้าน คนแถบนี้แต่ก่อนเป็นพวกมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศลาว เป็นพวก เม้ย หรือเป็นพวก ย้อ เข้ามาอยู่เมืองไทยสมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองลาว พวกเขาไม่ชอบลัทธิการปกครองของฝรั่งเศส จึงอพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ฝั่งประเทศไทย
ลัทธิประเพณีของพวกนี้ก็แปลก พวกเม้ยนี้แต่ก่อนเขาเรียกว่า “ ลาวกอด “ หรือ “ ลาวกุม “ คำว่า “ ลาวกอด ลาวกุม “ นี้เขาถือกันจริง ๆ คือหมายความว่าถ้าเราไปเยี่ยมเขาไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมเรือนเขา ถ้าเขามีลูกสาวแล้วไม่กอด ไม่กุม ไม่จูบ ไม่ดม ลูกสาวเขาไม่ได้ เขาว่า ผิดผี แต่จะทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เพียงกอดกุมจูบดมเท่านั้น ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เขาปรับไหมใส่โทษเพราะมันผิดผีเขา เป็นประเพณีของเขาดังนั้นเมื่อเขาข้ามมาในประเทศไทยในสมัยก่อน ๆ ประเพณีนี้ก็ยังมีอยู่แต่เดี๋ยวนี้ดูหายไปแล้ว
พระเณรของเขานั้นก็ประหลาดเหมือนกัน เขาถือหลักเกณฑ์อะไรก็ไม่ทราบ เป็นแต่เพียงนุ่งห่มผ้าเหลืองแล้วก็แล้วกันไป แค่นั้นก็ถือเป็นพระเป็นเณรแล้ว จะกินข้าวเย็นก็ไม่ว่า โดยมากที่สังเกตดูชอบกินฝิ่น เวลาสงกรานต์ก็รดน้ำกันกับสีกา กอดกัน กุมกันเขาไม่ถืออะไร เวลาวันพระพวกพระเณรก็พากันไปล่าเนื้อตามป่า ไปหาปลาตามห้วย ตามหนอง ตามบึง เอามาหุงหาอาหาร จับเงินจับทอง ขุดดิน ฟันไม้ เขาก็ไม่คำนึงถึงพระวินัยอย่างไรเลย และญาติโยมของเขาก็ไม่ถือ พอปีใหม่ก็ต้องมีงานเลี้ยงผีกัน ทำกันเป็นพิธีใหญ่โตมโหฬารทีเดียว ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยเห็นเขาทำอยู่
นี่เป็นลัทธิเดิมของเขา เดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้วเพราะความเจริญมันล้นไหลเข้าไปและทางคมนาคมก็ไปสะดวก

ศาลาวิหารบนเขาชั้นที่ 5 เมื่อระยะแรกขุดแต่งใหม่่ๆ พ.ศ. 2515

กับคณะศิษย์ ในปี พ.ศ. 2515