
ห้องพิพิธภัณฑ์
เจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ นี้ นอกจากการจัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณียสถาน และเป็นบรรจุอัฐิพระธาตุของท่านแล้ว ได้จัดส่วนหนึ่งภายในองค์เจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติบุคคล ( Memorial Museum ) ด้วยโดยจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและอัฐิบริวารข้าวของเครื่องใช้ของท่าน แบ่งเรื่องราวและการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วน ตามลักษณะของห้องจัดแสดงภายในองค์เจดีย์

ห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๑ ประวัติและเกียรติคุณอันเป็นที่สรรเสริญ หัวเรื่องใช้ชื่อ พระจวน กุลเชฏโฐ อันเป็นลายมือของท่านเอง นำมาขยายและพ่นด้วยสีทอง ภายในห้องแสดงเรื่องราวประวัติชีวิตและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในชีวิตเป็นภาพวาด ภาพถ่ายตามวาระและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบคำอธิบาย รวมหนังสือธรรมะและหนังสืออนุสรณ์ ชีวประวัติ ปฏิปทาและธรรมเทศนา
จุดเด่นในห้องนี้ คือ ภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่เป็นภาพวาดท่านพระอาจารย์จวน ขณะนั่งสำราญอิริยาบถ “ ปล่อยวาง “ บนเพิงผาภูทอก เป็นภาพเขียนจำลองจากภาพถ่าย หากเน้นโทนสีน้ำตาล – เหลือง และแสงสีเงาระหว่างความมืดและความสว่างที่ส่องมากระทบให้แลดูเอิบอิ่มลึกล้ำเหมือนท่านจะหลุดลอยออกไปสู่แดนอวอากาศแห่งนิพพานกรอบรูปวาดเป็นกรอบทองอย่างดี แต่เป็นแบบเรียบง่ายอันเป็นลักษณะของกัมมัฏฐาน หากทรงคุณค่าอันสูงยิ่ง
ข้างใต้ภาพ เชิญวาทะของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่กล่าวถึงท่านพระอาจารย์จวนมาลงไว้ ระหว่างนั้นท่านไปอยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม ได้เร่งทำความเพียรอย่างไม่ลดละ เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น กระทั่งวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวชมว่าท่าน “ ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้วได้ความเป็นธรรมว่า กาเยนะ วาจายะ วะเจตะ วิสุทธิยา ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม “

....ภาพพระราชกรณียกิจ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและนมัสการท่านพระอาจารย์จวน ณ ภูทอก ในวาระแรก ๆ ภาพพระราชกรณียกิจเหล่านี้ เป็นภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน หรืออัดขยายเพื่อให้ได้ขนาดสำหรับจะจัดตั้งแสดงจากภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน
.... ภาพถ่ายท่านพระอาจารย์จวน กับหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งแสดงถึงความเคารพรัก ผูกพัน ที่ท่านมีต่อหลวงปู่ก่อนที่ท่านพระอาจารย์มั่นจะมรณภาพ ท่านได้ฝากฝังท่านพระอาจารย์มั่น “ ให้ช่วยกำกับดูแลรักษา “ ท่านพระอาจารย์จวนจึงกล่าวเสมอ นอกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่ขาวเป็นประดุจ “ พ่อ แม่ “ ของท่าน เป็น “ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ “ ที่ท่านเคารพรัก เทิดทูนอย่างสูงสุด ในห้องพิพิธภัณฑ์นี้ได้จัดแสดงรวมถึงลายมือของท่านหนังสือต่าง ๆ ที่รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์ท่าน
ด้านหน้าสุด เป็น “ อนุสรณ์ “ .....ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ( วาสนมหาเถระ ) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและ “คุณานุสสติ”...พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดบวรนิเวศวิหารที่ประทานไว้แต่เมื่อยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่ง ทั้ง “ อนุสรณ์ “ และ “ คุณานุสสติ “ นี้ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งสองพระองค์ ได้ทรงประทานเป็นสัมโมทนียกถา ให้เป็นเกียรติเป็นสิริแก่หนังสือชีวประวัติท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่านเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔
อัฐบริขารที่แสดงภายในห้องนี้เป็นอัฐบริขารที่อนุญาตไว้ในพระธรรมวินัยและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เป็นบริขารอาศัยของท่านพระอาจารย์จวน ลักษณะรูปแบบที่นำออกจัดแสดงได้แยกออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กล่าวคือ

กลุ่มแรก แสดงอัฐบริขารและเครื่องใช้ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เช่น ...สบง จีวร สังฆาฏิ อังสะ บาตร ถลกบาตร ที่รองบาตร ย่าม รองเท้า เป็นอาทิ สิ่งเหล่านี้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ได้ติดตามพบกระจัดกระจายอยู่ที่บริเวณทุ่งนา ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นจุดบริเวณที่เครื่องบินตก โดยที่เวลาเกิดเหตุมีฝนตกหนัก สิ่งของต่าง ๆ นอกจากฉีกขาด ยังเปื้อนโคลนตมด้วย ต้องนำมาทำความสะอาด บางชิ้นพอทำความสะอาดได้บ้าง แต่บางชิ้นก็เสียหาย เช่น รองเท้า เหลือเพียงข้างเดียว บาตรบุบยุบเข้าไปทั้งตัวบาตรและฝาบาตร ได้เก็บรักษาและนำมาแสดงไว้เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง
กลุ่มที่สอง แสดงอัฐบริขาร และบริขารอาศัยในชีวิตประจำวันของท่าน อัฐบริขารที่นำมาแสดงในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นรายการที่ซ้ำกับกลุ่มแรกที่แสดงบริขารติดองค์อยู่เมื่อเครื่องบินแตกแล้ว ควรเรียกว่าเป็นอัฐบริขารที่ท่าน “ เคยใช้ “ มากกว่า เพราะได้สละไปแล้ว ให้แก่พระภิกษุรูปอื่น ๆ ปกติท่านเป็นพระป่าที่สมถะและเคร่งในวัตร ถือครองผ้า ๓ ผืน ท่านจะไม่มี สบง จีวร หรือสังฆาฏิเกินกว่าอย่างละ ๑ ผืน แต่เนื่องจากการจัดห้องพิพิธภัณฑ์นี้ตั้งใจจะจัดแยกเป็น กลุ่มหนึ่ง..แสดงสภาพประวัติศาสตร์ถึงสภาพสิ่งของเครื่องใช้เมื่อเครื่องบินตกและอีกกลุ่มหนึ่ง..แสดงสภาพสิ่งของเครื่องใช้อันเป็นชีวิตปกติของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน คณะผู้ดำเนินงานจัดทำพิพิธภัณฑ์จึงต้อง “ ขอคืน “ อัฐบริขารบางชิ้นจากผู้ที่ได้รับบริจาคจากท่านไปแล้ว ทำให้สามารถนำมาจัดแสดงได้ เพราะท่านเหล่านั้นแม้จะรักและหวงแหนสิ่งเหล่านั้นเพียงไร แต่เพื่อให้ตนได้สามารถมีส่วนแห่งบุญด้วยต่างขอนำมา “ ถวายคืน “ ให้แสดงในพิพิธภัณฑ์
ห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๒ ชีวิตประจำวันและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพที่ตั้งแสดง แยกเป็น ๒ กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นภาพแสดงชีวิตอันเป็นปกติวิสัยของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน เช่น ท่านกำลังธุดงค์หรือเทศน์โปรดศิษย์ระหว่างธุดงค์อยู่กลางป่า ภาพถ่ายของท่านกับยอดภูหินผาแห่งภูทอกเป็นอาทิ
อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์จวนหรือภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรูปปั้นเหมือนของท่านพระอาจารย์จวนให้แก่วัดเจติยาคีรีวิหาร และทอดพระเนตรอัฐิพระธาตุของท่านอย่างเปี่ยมด้วยพระราชสัทธาปสาทาธิการในท่านพระอาจารย์และ ฯลฯ
เช่นเดียวกันกับในห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๑ ภาพพระราชกรณียกิจเป็นภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ในห้องนี้ ได้มีการจัดตั้งอาสนะ หมอนขวาน ปูผ้านิสีทนะ จำลองภาพในลักษณะที่ท่านพระอาจารย์จวนเคยนั่งอยู่เป็นประจำ ณ ศาลาวิหารบนเขาชั้นที่ ๕ ข้าง ๆ มีแซ่ปัดยุง เชี่ยนหมาก ที่ใส่ชานหมาก กระโถน แว่นตา กาน้ำกระบอกน้ำ ไม้สีฟันของพระกรรมฐาน ร่ม กระติกน้ำ และ ฯลฯ
เครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันกับในห้องพิพิธภัณฑ์แรก หากมีเกินกว่าหนึ่ง เพราะท่านเจ้าของผู้ได้รับบริจาคจากท่านไปแล้ว ขอ “ ถวายคืน “ ให้มาแสดงในพิพิธภัณฑ์

.jpg)