
สวนเจติยาคีรีวัน
เพื่อเป็นพุทธบูชา และมีใจรำลึกอยู่ตลอดเวลาถึงพระพุทธวจนะของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าความที่ว่า“ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใด....เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ...ที่นั้นเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์ “
คณะกรรมการดำเนินงานสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ จึงได้พยายามจัดทำสวนตกแต่งไม่เฉพาะแต่บริเวณเนินดินรอบเจดีย์เท่านั้น หากได้ขยายการตกแต่งบริเวณไปโดยรอบเจดีย์อีกกว้างไกล
...โดยถือลานเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลาง สายตาทอดแลไปสารทิศใด ก็ให้คาดคำนึงว่า จักมีสถานที่อันน่ารื่นรมย์อยู่ในสายตาตลอดไป...ที่ใดเป็นสระน้ำอยู่แล้ว ก็ขุดแต่งขยายให้เป็นสระอันกว้างใหญ่ ที่จะสะท้อนภาพเจดีย์ลงสู่ผิวน้ำใสให้ไหวระริกด้วยชีวิต...ที่ตื้นเขินก็ขุดลอกให้เป็นสระลึกโดยเฉพาะพงป่าบางตอนปกคลุมด้วยเถาวัลย์และต้นไม้หนาทึบต่อเมื่อรื้อแต่งเถาวัลย์ต้นไม้และขุดลอกพงหญ้าที่รกเรื้อออกกลับพบลำน้ำทอดตัวอยู่ตัดขอบด้วยสันพลาญหินอย่างงดงาม..ที่ใดเป็นลุ่มลึก ก็แบ่งเขตขุดแต่งเป็นสระส่วนหนึ่ง ถมดินให้เป็นสนามหญ้าอีกส่วนหนึ่ง
สำหรับการจัดทำสวน ได้มีหลักการว่า เฉพาะบริเวณใกล้ ๆ เจดีย์ เช่น บนลานชั้นบนและลานชั้นกลางนั้น จะต้องไม่มีต้นไม้ใหญ่มาบดบัง เพื่อให้แสดงรูปลักษณ์ของเจดีย์ให้เห็นชัดถึงความสง่า สงัด โดยชัดแจ้ง ส่วนบริเวณโดยรอบให้คำนึงถึงต้นไม้และวัสดุพื้นบ้านของภูทอกและภาคอีสานเป็นลักษณะเด่นโดยตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ใบและไม้หอมตามควร
ในหลักการนี้ การจัดสวนจึงได้แบ่งวิธีการจัดตามกลุ่มสถานที่ตั้งสวนดังนี้
๑. บริเวณลานชั้นบนโดยรอบเจดีย์ ๘ ด้าน ซึ่งถือเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้องค์เจดีย์ที่สุด ใช้ไม้ประดับที่มีความสูงจากพื้นดินเพียงเล็กน้อย เช่น เฟื่องฟ้า ผกากรอง ดอนย่าชมพู ฟ้าประดิษฐ์ เกล็ดแก้ว และผักขมแดง ปูดาดด้วยกระดุมทองเลื้อยและเน้นหนักด้วยกลุ่มต้นอินทร์ถวาย ( พุดซ้อน ) แคระซึ่งออกดอกหอมอบอวล ถวายเป็นพุทธบูชาตลอดปี
๒. บริเวณลานเจดีย์ชั้นกลาง ซึ่งมีอยู่ ๔ มุมได้จัดเป็นสวนอย่างที่คำนึงว่า ควรจะต้องมีต้นไม้ซึ่งมีความสูงพอควรที่จะให้ร่มเงาได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่บดบังเจดีย์ ดังนั้นสวน ๒ มุมแรกด้านหน้าทางซ้ายและขวาขององค์เจดีย์ จึงใช้ ตะโก ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นในป่าภาคอีสานเป็นหลัก ส่วนอีก ๒ มุมด้านหลังใช้ จันทน์ผา ซึ่งตามประวัติของท่าน จะมีขึ้นชุกชุมอยูตามป่า เขา และพลาญหินที่ท่านไปบำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ว่าจะเป็นที่ ดงหม้อทอง ถ้ำจันทน์ ถ้ำบูชา ภูวัว ภูสิงห์ หรือ ภูทอก
สำหรับสวนทั้ง ๔ มุมเจดีย์นี้ได้ชะลอหินจากบนเชิงเขาภูทอกและบริเวณโดยใกล้ขึ้นไปตั้งบนเนินดิน เกาะกอดเป็นกลุ่มสวนหิน บางแห่งถ้าเป็นพลาญหินอันราบเรียบก็จัดวางเป็นแนวนอน ต่างบัลลังก์ภาวนาสำหรับผู้ใฝ่ในการบำเพ็ญพรต สอดแซมด้วย ไม้ดอก ไม้ประดับเน้นแสดงความหมายในชีวประวัติของท่านเรียงลำดับเวียนตามทักษิณาวรรตจากมุมขวาของเจดีย์โดยลำดับ คือ
- มุมแรก เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีเหลือง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของศาสนาประจำชาติไทย แสดงถึงความที่ท่านมีใจมุ่งมั่นอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสโดยแท้..ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกไม้มุมนี้ คือ คีรีบูนเหลือง บานบุรีแคระ ผกากรองด่างเหลือง เข็มเหลือง โกสนเหลือง รางทอง กระดุมทอง ฯลฯ
- มุมที่สอง เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีแดง อันเป็นสีโลหิต แห่งความองอาจ กล้าตาย แสดงถึงความมุมุ่งสู่ความหลุดพ้น ภาวนาสละตายอย่างมอบกาย
ถวายชีวิต ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ....ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูก คือ ชวนชม เข็มแดง ชบาแดง โป๊ยเซียนแดง ผักขมแดง ผกากรองแดง ดอนย่าแดง ฯลฯ
- มุมที่สาม เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีขาว อันเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น
แวดล้อมด้วยดอกไม้หอมให้กลิ่นแซ่ซ้องสาธุการเป็นพุทธบูชา...ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูก คือ เฟื่องฟ้าขาว ดอนย่าขาว บานเช้า ชบาขาว ผกากรองขาว โมก แก้ว สเลเต ( มหาหงส์ ) เขี้ยวกระแต พุทธชาด เกล็ดแก้ว ฯลฯ
- มุมที่สี่ เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีชมพู อันแสดงถึงความอุทัยเรื่อเรืองแห่งแสงธรรมที่ท่านบรรลุจนสิ้นสงสัยแล้วและเมตตาสั่งสอนต่อไปให้แก่ปวงศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส เกียรติคุณแผ่กำจายสว่างเจิดจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนอาทิตย์อุทัยขึ้นเหนือขอบฟ้า และนับวันจะเรื่อเรืองเจิดจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นเป็นแสงอาทิตย์กล้าแห่งเที่ยงวัน เป็นที่ประจักษ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของมวลพุทธศาสนิกชนทั้งปวง.... ไม้ดอกไม้ประดับในมุมนี้ คือ เฟื่องฟ้าชมพู ดอนย่าชมพู ชบาชมพู ผกากรองชมพู เข็มชมพู หัวใจสีม่วง และก้ามปูชมพู ฯลฯ
๓. บริเวณต่อจากเนินองค์เจดีย์ทั้ง ๔ ด้าน ปลูกไม้ท้องถิ่นแห่งป่าภาคอีสาน เช่น ประดู่ อินทนิน เสลา เฉพาะบริเวณด้านหน้าสองข้างทางถนนทางเดินเข้าสู่เจดีย์ ปลูกมะม่วงนานาพันธุ์ เป็น “ ป่ามะม่วง “ หรือ “ สวนอัมพวัน “ อันร่มรื่น บริเวณที่ว่างชายเนินเจดีย์จัดทำเป็นสวนหย่อมสำหรับด้านซึ่งต่อเนื่องกับเขาภูทอก ซึ่งมี ต้นโพธิ์ ( ต้นอ่อนจากโคนต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา อินเดีย )
ซึ่ง ท่านพระอาจารย์จวน ฯ ได้นำต้นกล้ามาปลูกไว้เอง ได้จัดนำหินศิลาก้อนใหญ่มาตั้งเป็น บัลลังก์ศิลา ให้เป็นอนุสติรำลึกถึงรัตนอาสน์ ที่ประทับของสมเด็จพระพุทธชินสีห์จอมไตรใต้พระศรีมหาโพธิ์ในคืนตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาโพ้น ได้แต่งรอบบัลลังก์ศิลาใต้ต้นโพธิ์ด้วยไม้หอมนานาพันธุ์ เช่น ลั่นทม โมก แก้ว กระดังงา สเลเต มะลิ เขี้ยวกระแต อินทร์ถวาย ว่านหอม พุทธชาด ฯลฯ ซึ่งคงจะให้ดอกหอมถวายเป็นพุทธบูชาแก่ทั้งเจดีย์และต้นโพธิ์ตรัสรู้และเมื่อใกล้บริเวณเขาภูทอก สภาพสวนเหล่านี้ก็จะค่อยแปรเปลี่ยนไป จนในที่สุดกลายเป็นสวนป่าตามธรรมชาติเดิมของป่าเขาบริเวณนี้ เพื่อเหมาะแก่พระโยคาวจรเจ้าจักได้บำเพ็ญพรตภาวนาต่อไป
๔. บริเวณริมถนนด้านหน้าเจดีย์ ในเกาะกลางถนนทางเดินเข้าเจดีย์และสองข้างถนนทางเดินเข้าเจดีย์ ใช้ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งจะคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศอันแห้งแล้งในฤดูร้อนแห่งอีสาน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้กลิ่นหอม เช่น โมก แก้ว พิกุล พุดซ้อน และแต้มเติมด้วยสีสันแห่งความสดใส เช่น เฟื่องฟ้าชมพู ชวนชม เข็มสีต่าง ๆ บานชื่น บานบุรี พยัพหมอก ฟ้าประดิษฐ์ ผกากรองสีต่าง ๆ เศรษฐีไซ่ง่อน หัวใจสีม่วง เกล็ดแก้ว ผักขมแดง ผักเป็ดแดง ปัตตาเวียสีต่าง ๆ ฯลฯ
๕. บริเวณสามเหลี่ยมจากปากทางเข้าวัด ซึ่งอยู่เบื้องขวาของเจดีย์ นอกจากสวนหย่อมเป็นระยะ ๆ แล้วได้จัดปลูกลั่นทมแดงและลั่นทมขาวเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่า “ สวนลั่นทม “ หรือ “ ลานลั่นทม “ ซึ่งจะให้กลิ่นหอมแห่งลั่นทมขจรขจายตลอดปี
๖. บริเวณเบื้องซ้ายตอนใกล้เนินเจดีย์ คงจัดทำเป็นสวนหย่อมเป็นระยะ ๆ เช่นกัน หากส่วนที่ไกลออกไปใกล้สระน้ำได้จัดทำเป็น “ สวนไทร “ หรือ “ สวนนิโครธาวัน “ ปัจจุบันไทรนานาชนิดที่ปลูกยังไม่เติบใหญ่ คงจะต้องรอเวลาต่อไปอีกระยะหนึ่ง กว่าจะเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นได้เต็มที่
๗. บริเวณด้านหลังเจดีย์ เชิงบันได มีต้นโพธิ์ใหญ่ซึ่งได้ชะลอหินศิลาก้อนใหญ่มาจัดตั้งเป็นบัลลังก์ศิลาใต้ต้นโพธิ์และตกแต่งในลักษณะเดียวกับต้นโพธิ์ตรัสรู้เช่นกันสองข้างถนนด้านหลัง ซึ่งด้านหนึ่งเลียบชายเนินเจดีย์อีกด้านหนึ่งเลียบชายสระน้ำใหญ่ ต่างปลูกพิกุลเป็นระยะ ๆ ถือเป็นไม้หอมเพื่อเป็นพุทธบูชา ดาดพื้นด้วยพรมธรรมชาติสีเขียว แซมดอกเหลืองของกระดุมทองเลื้อย สลับด้วยไม้ดอกสีสดจ้าของดาวเรืองและหงอนไก่
รอบสระน้ำใหญ่ นอกจากพิกุลแล้วได้ปลูกจำปีเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน สองข้างบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังขององค์เจดีย์ ปลูกจำปีและจำปาซึ่งในระหว่างนี้เริ่มให้ดอกบานหอมจรุงใจแทบตลอดเวลา
