วัดเจติยาคิรีวิหาร ( ภูทอก )
และสถานที่ควรวิเวกโดยรอบ
วัดเจติยาคิรีวิหาร ( ภูทอก ) ในปัจจุบันนี้ นับว่าสะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมากมาย ความเจริญทุกสิ่งทุกอย่างดังที่พวกเราเห็นอยู่นี้ ก็เป็นไปตามกาลอันควร แต่ก่อน ภูทอก ไม่มีใครรู้ใครเห็น เพราะอยู่ในที่กันดารห่างไกล อยู่ในป่าดงพงไพรลึกลับ ไม่มีถนน ไม่มีแม้แต่ทางเดินในป่า แต่อยู่มาก็มีความเจริญขึ้นมาเป็นลำดับ ..... ในราวป่าเริ่มปรากฏแนวทางเดินของมนุษย์ของสัตว์เลี้ยง ของเกวียน...จากแนวทางเดินที่จะต้องหาบหามกันเข้าไปเป็นวัน ๆ ก็เป็นทางค้นดินที่รกพอจะเดินไปได้ จากการบุกป่าข้ามห้วย หนอง คลอง บึง ก็มีสะพานให้ความสะดวกแก่รถโดยสารจากหมู่บ้านสิบหลังคาเรือน ก็เพิ่มเป็นร้อย ๆ หลังคาเรือน
กระทั่งปัจจุบันนี้ ๆได้รับความสะดวกสบาย มีสภาพดังที่เห็นอยู่นี้ ถนนหนทางดีขึ้น สะพานรอบภูเขาก็มี บันไดขึ้นเขาก็มี สะพานขึ้นเขาก็มี บรรดาประชาชนทั่วประเทศไทยทุกภาคพากันมาเที่ยวทัศนาจรหย่อนจิตใจที่ภูทอกทุกปีไม่ขาดทีเดียว แม้กรุงเทพฯซึ่งเป็นเมืองหลวงของเมืองไทยก็มากันทุกเดือนไม่ขาดเลย ไปหย่อนจิตใจ ไปภาวนา บางครั้งก็เดินธุดงค์ไปภูวัวบ้าง ไปภูสิงห์บ้างเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศดีอย่างนี้ นี้แหละ.....ขอให้พวกเราช่วยกันรักษาสมบัติธรรมชาติไว้อย่าให้ทำลายไปจากโลก ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาไว้มันก็ฉิบหายหมด ....ทั้งป่าไม้และภูเขาก็จะเตียนไปหมด ถ้าป่าไม้ถูกทำลายเตียนไปหมดก็จะเกิดแห้งแล้ง เกิดอดอยากกันเท่านั้นเอง
ฉะนั้นทางวัดจึงเห็นโทษเห็นภัยหลายประการสารพัดที่จะเกิดขึ้น จึงรีบเร่งจ้างรถแทรกเตอร์เข้าขีดเส้นเขตบริเวณวัดไว้รอบเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูแจ่มจำรัสหรือภูทอกใหญ่และภูสิงห์น้อย กำหนดเขตวัดไว้เพื่อสงวนป่า สงวนสัตว์ป่าไว้ไม่ให้มนุษย์เข้าไปทำลายบุกรุกเข้าไปทำมาหากินในเขตวัด ปิดป้ายล้อมรอบไว้ห้ามตัดไม้ทำลายสัตว์ในบริเวณวัดในเขตวัด การภาวนาในภูเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูสิงห์น้อย ภูแจ่มจำรัส นี่ดีมากอากาศปลอดโปร่งดี ถ้าใครต้องการก็เชิญเลยได้ทุกโอกาส ไปหาวิเวกภาวนาหลบซ่อนอยู่ตามถ้ำ ตามเงื้อมหิน ตามซอกเขา ตามพลาญหินจะอยู่ข้างล่างก็ได้ อยู่ชั้นกลางก็ได้ อยู่ชั้นบนก็ได้ มีที่อยู่เยอะแยะ หลบร้อนก็ได้ หลบฝนก็ได้ หลบหนาวก็ได้ อยู่ได้ทุกฤดูกาล
พระพุทธเจ้าสอนผู้ที่หวังจะประสงค์พ้นทุกข์พ้นภัย เช่น นักบวชผู้มุ่งหวังทำลายกำเลสตัณหาอย่างเดียว ท่านสอนให้ทำตัวเหมือนโครักษาหนังหาหลบหาลี้อยู่อย่างนั้นเอง ไม่ออกที่เปิดเผย ไม่ออกที่กลางแจ้ง ถ้านักบวชเราอุตส่าห์ประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างนั้นผลก็ค่อยเกิดมีขึ้น ค่อยปรากฏมีขึ้นแลได้รับไปตามระยะ ๆ แห่งการปฏิบัติของตนนั่นเองหากเป็นผู้ประมาท เป็นผู้เหลวไหล หรือเป็นผู้ถอยหลังแล้วมันก็ไปไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นไปได้ย่อมอาศัยความพากเพียรต้องอาศัยขันติความอดทนเท่านั้นจึงจะเป็นไปได้ถ้าเราขึ้นไปบนภูทอกไปชั้น 4 ชั้น 5 ชั้น 6 มองลงมาจะเห็นอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการทำถนนคันกั้นน้ำระหว่าง ภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ หรือภูแจ่มจำรัส เหมือนทะเลสาบมากทีเดียว ป่าไม้ธรรมชาติก็เขียวชอุ่มตัดกับน้ำสวยมากทีเดียวเหมือนเป็นวิมานลอยอยู่ในอากาศทีเดียว นี่แหละใครขึ้นไปก็บ่นว่าแหมวิเศษ ๆ ทั้งนั้น นี่ไม่ใช่พูดยกย่องนะพูดตามความจริง ถ้าไม่เชื่อก็เชิญไปดู แต่ขอให้ระวังหน่อย การขึ้นภูทอก ต้องขึ้นทางบันไดโดยไม่รีบร้อนให้ค่อย ๆ ขึ้นไป เดินภาวนาไปด้วย ภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือภาวนาพุทธะพลัง ธัมมะพลัง หรือสังฆะพลังภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่าไปคิดถึงการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า อย่าไปคิดถึงการเจ็บแข็งเจ็บขา ให้คิดถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้คิดว่าความอดทนอดกลั้นนี่แลเป็นหนทางบันไดขึ้นสู่สวรรค์และนิพพาน
อันบุคคลจะไปสู่สวรรรค์และนิพานได้ก็เพราะอาศัยความอดทนให้พ้นทุกข์ได้ ถ้าไม่อดทนก็ไปไม่ได้ ต้องอาศัยความอดความทนเอานี่แหละเวลาเราไต่บันไดขึ้นไปบนเขานมัสการพระพุทธรูปที่วิหารชั้น 5 ซึ่งมีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกบ้าง นอกจากนั้นมีพระโบราณสองพันปี หนึ่งพันเก้าร้อยปีก็มี มีสิ่งต่าง ๆ ให้ดูอยู่ในถ้ำวิหาร ค่อย ๆ ขึ้นตั้งใจให้ดี ภาวนาให้ดี ภาวนาพุทธะพลัง ธัมมะพลัง สังฆะพลัง อย่าไปคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย ความเมื่อยล้า อย่าคำนึงเลย ถ้าเรารีบด่วนขึ้นไปมันก็เหนื่อยมาก ถ้าค่อย ๆ ขึ้นไป พักไปเรื่อย ๆ รู้สึกเมื่อยก็นั่งพักชมป่าไม้ไปชมดอกไม้ไปหน้าฝนดอกไม้ป่าบานสะพรั่งชมบันไดไปชมธรรมชาติหน้าผาไปมันก็ลืมเหนื่อยวิเวกไปด้วยทำจิตใจของเราให้ปลอดโปร่งให้สบาย....สบาย.....!
พุทโธสอนให้สบาย ธัมโมก็สอนให้สบาย สังโฆก็สอนให้สบาย ถ้าใจวุ่นวายใจขัดข้องหมองมัวก็ไม่ใช่ใจพุทธ ไม่ใช่ใจธัมโม ไม่ใช่ใจสังโฆ ใจเบิก ใจบาน ใจชื่น ใจรื่นเริง ใจกล้าหาญ ใจไม่โศก ใจไม่เศร้านั่นเรียกว่าใจพุทโธ ใจธัมโม ใจสังโฆ ใจสวรรค์ ใจพระนิพพาน จึงสมกับโบราณท่านว่า สวรรค์อยู่ที่อก นรกอยู่ที่ใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ ใจทุกข์ ใจร้อน ใจโศก ใจเศร้าก็เป็นนรกเท่านั้น มันทุกข์มันเผาผลาญมันทุกข์ ใจชื่น ใจบาน ใจสนุกสนาน ก็เป็นใจสวรรค์ ใจสงบสงัด ใจบริสุทธิ์คือ ใจพระนิพพานเท่านั้น ดังว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานอยู่ที่ใจ “ นั้นเอง
พุทโธก็อยู่ที่ใจของเรานี่ ผู้รู้จะเอาอะไรรู้ ก็เอาใจรู้ ธัมโมก็อยู่ที่ใจ ใจรู้ว่าเป็นธรรม ใจเป็นผู้รู้ เป็นปัญญา สังโฆผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบหรือปฏิบัติตรงถ้ารู้แล้วปฏิบัติให้รู้ยิ่งเห็นจริงตามเป็นจริงเท่านั้น ใจเป็นผู้รู้จึงเป็นพุทโธได้เราจะไปหาพุทโธ ธัมโม สังโฆได้ที่ไหน จะหาสวรรค์ได้ที่ไหน หาพระนิพพานได้ที่ไหน เราจะกลัวนรกที่ไหน ถ้าเราไม่ทำบาปที่ใจแล้วมันจะตกนรกได้อย่างไร ถ้าใจเราเศร้าหมอง ใจเราทำบาป เกลือกกลั้วหมักดองอยู่ด้วยกิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ ความหลง ใจก็เศร้าหมอง เมื่อใจเศร้าหมอง ใจก็ตกนรก มักก็เป็นนรกเท่านั้น นี่ไฟกระแสของนรกมันสัมผัสเข้ามา คือ ราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเราไม่ชำระออก ไฟนรกตัวนั้นมันก็เชื่อมอยู่ในจิตของเราตายไปก็ไปสู่ทุคติ ตายไปก็ไปนรกที่เก่านั่นเองเพราะมีเชื้อเก่าดั้งเดิมอยู่แล้ว เราตัดกระแสไฟนรกไม่ได้ท่านให้ตัดอยู่ที่ใจ ใจชื่น ใจชม ใจสงบ ใจดี ใจไม่โศกไม่เศร้า เป็นใจสวรรค์ใจรื่นรมย์ในทานในศีลในภาวนา ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตายไปก็ไปสู่สรรค์ ใจบริสุทธิ์หมดจดใจหาเวรไม่ได้ หาเศร้าหมองไม่ได้ หาความพยาบาทเบียดเบียนไม่ได้เป็นใจที่บริสุทธิ์ หมดจด ก็เป็นพระนิพพานเท่านั้นไม่มีทุกข์ ดังว่า สรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ที่ใจ พระนิพพานอยู่ที่ใจ พุทโธผู้รู้.....มันเป็นอย่างนั้น! เราภาวนาพุทโธ ๆ ถ้าเราไม่รู้สัจจธรรมตามของจริงแล้ว ไม่ชื่อว่าพุทโธได้ได้แต่ชื่อ ต้องรู้สัจจะของจริงเป็นพุทโธ ท่านรู้อย่างไร รู้สัจจธรรมรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นของไม่สะอาดเป็นของไม่สะอาด เป็นของสกปรกโสโครกเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจ ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายของเราเป็นของน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก นี่พุทโธท่านรู้เช่นนี้.....
รู้สัจจะของจริง พุทโธท่านรู้ตามสัจจะของจริงว่าร่างกายเรานี้มันเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของเราเขา นี่.....พุทโธท่านรู้อย่างนี้ รู้ว่านี่เป็นสัจจธรรม
- พุทโธท่านรู้ว่า ร่างกายของเรามันเป็นซากศพซากผี ตายลงร่างกายก็ผุพังเน่าเปื่อยลงสู่สภาพเดิมคือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี่พุทโธท่านรู้อย่างนี้
- พุทโธท่านรู้ว่า สังขาร ร่างกายเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของไม่ใช่ของตน ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของแห่งตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เราเขาพุทโธท่านรู้อย่างนี้ ท่านจึงละได้ วางได้ รู้แล้ว
- พุทโธท่านรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ นี่คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ นี่คือสัจจธรรม
- พุทโธท่านรู้ว่า นี่คือทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย นี่เป็นทุกข์
- พุทโธท่านรู้ว่า นี่คือเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหา ความอยากนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดภพอีกนันทิ คือ ความยินดี ราคะ คือ ความกำหนัด ตตฺตรตตฺตราภินนฺทินี คือ ความเพลิดเพลิน ลุ่มหลง ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมตามความรักความกำหนัดความยินดีที่มีอยู่เป็นอยู่ ตัณหาเหล่านี้แล เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ความใคร่ความอยากในกามารมณ์ที่มากระทบความทะเยอทะยาน อยากโน่น เป็นนี่ให้ยิ่งขึ้นไป ไม่อยากไม่มีอยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบไม่พอใจ ตัณหาความอยากเหล่านี้แล เป็นเครื่องยั่วยวนจิตใจของเราให้ลุ่มหลง ให้เทียวเกิดเทียวแก่เทียวเจ็บเทียวตายอยู่ไม่สิ้นสุด นี่พุทโธท่านรู้เหตุให้เกิดทุกข์
- พุทโธท่านรู้ธรรมอันทำให้หมดทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้สิ้นไปให้หมดไป ท่านรู้ว่าต้องทำตัณหาความอยากนี่ให้หมดไป ดับตัณหาความอยากนี้ไม่ให้เหลือทีเดียว ละวางปล่อยสละสลัดตัดจากตัณหาคือความอยากนี่แล คือตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจของเรา ทุกข์จึงจะดับ นี่คือพุทโธท่านรู้ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ พึงเข้าใจ
- พุทโธท่านรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ท่านรู้ว่า คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เองเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ธรรมอื่นที่จะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ย่อมไม่มี นอกจากศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ท่านรู้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญานี่แลซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ฉะนั้น ท่านจึงว่าสิ่งที่ควรศึกษามี 3 คือ หนึ่ง ศีล สอง สมาธิ และสามปัญญาศีลสิกขา ศีลเป็นสิ่งที่ควรศึกษา สมาธิสิกขา สมาธิคือการตั้งใจมั่นเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ปัญญาสิกขา ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขารเป็นสิ่งที่ควรศึกษา เพราะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ คือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญาแล้วมันก็ไม่รู้ว่านี่ทุกข์นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ธรรมอันเป็นข้อดับทุกข์เท่านั้น ที่จะรู้ว่านี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมเป็นข้อดับทุกข์ ก็เพราะศีล สมาธิ ปัญญานั้น พึงเข้าใจ
ศีลที่เป็นข้อปฏิบัติถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ได้แก่ จตุปาริสุทธิศีล คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล สังวรในพระปาฏิโมกข์ เว้นปฏิบัติข้อที่พระองค์ทรงห้ามทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต อินทรียสังวรศีล สำรวมในอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในเมื่อกระทบรูปเสียงกลิ่นรสเครื่องสัมผัสและธรรมารมณ์ ไม่ให้ยินดียินร้าย ให้วางใจเป็นอุเบกขา มธยตฺเป็นกลาง ๆ อาชีวปริสุทธิศีล เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด ปัจจัยสันนิจศีล พิจารณาปัจจัย 4 ไม่ให้เป็นปลิโพธกังวล ให้ตัดปลิโพธกังวลในปัจจัย 4 ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
เมื่อเราเป็นผู้พิจารณาดังนี้ เป็นผู้ปฏิบัติจตุปาริสุทธิศีล 4 อย่างนี้ เหล่านี้ด้วยความไม่ประมาทก็เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์เท่านั้น สมาธิซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ คือ ท่านให้เจริญฌารทั้ง 4 ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม ให้พิจารณา พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ได้แก่ พิจารณาอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นข้อดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์นี้เอง กามทั้งหลายจึงจะปราศไปจากใจของเรา จากจิตของเรา สมาธิคือการเจริญฌาณทั้ง 4 ได้แก่ สติปัฏฐานฌาน นั่งฌานที่ 1 ท่านให้เจริญประกอบไปด้วยองค์ 5 คือ วิตก ยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน วิจารณ์พิจารณาให้รู้วิตกยกจิตขึ้นสู่เป้าหมาย เราจะเอาอะไรเป็นเป้าหมายจะเอาอะไรเป็นอารมณ์ของการพิจารณา จะเอาอะไร.....จะเอากาย เอาเวทนา เอาจิต หรือเอาธรรมก็แล้วแต่ที่จะถูกกับจริตนิสัยของตน เราจะเอาอริยสัจ เอาทุกข์หรือเอาเหตุให้เกิดทุกข์ก็ได้เอาธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ก็ได้ เอาข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ก็ได้ แล้วก็วิตกยกจิตขึ้นสู่ทุกข์ ยกจิตขึ้นสู่ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ยกจิตขึ้นสู่ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์วิจารณ์ พิจารณาค้นคว้าให้รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์รู้ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์เมื่อรู้แล้วปิติสุข เอกัคคตาจิตจึงจะปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นผลของการรู้ยิ่งเห็นจริง จากองค์ของปฐมฌานที่ 1 ท่านให้ทำให้ชำนิชำนาญ เมื่อผู้ชำนิชำนาญแล้วต่อจากนั้นวิตกวิจารณ์ทั้ง 2 ก็จะระงับลงก็นับแต่ที่จะเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะเข้าถึงฌานหรือความเพ่งที่ 2 เป็นเครื่องผ่องใสใจและภายในให้สมาธิมันทำมันผุดมีขึ้นเองไม่มีวิตกไม่มีวิจารณ์ มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ คือ ความแน่วแน่ อนึ่งเพราะปิติได้นิราศปราศไปย่อมเป็นผู้เพิกเฉยอยู่และมีสติสัมปชัญญะ ความรอบรู้เด่นดวงอยู่เป็นผู้เสวยความสุขด้วยกาย และด้วยนามกายย่อมอาศัยคุณ คืออุเบกขาสติสัมปชัญญะและเสวยสุขอันใดเล่าเป็นเหตุที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญบุคคลผู้นั้นว่า “ เป็นผู้อุเบกขามีคติอยู่เป็นสุข ๆ “ ดังนี้ย่อมเข้าถึงฌานหรือความเพ่งที่ 3 เพราะละสุขไปได้เพราะละทุกข์ไปได้ อนึ่งธรรมทั้ง 2 ในกาลก่อนคือ โสมนัสความยินดีโทมนัสความยินร้าย ได้อัสดงตกไปจากจิตไม่มีอยู่ในจิต ย่อมเข้าถึงฌานหรือความเพ่งที่ 4 คือสุขไม่มี ทุกข์ไม่มี มีแต่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขานี้คือสัมมาสมาธิความตั้งใจไว้ชอบ ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขารรอบรู้ในอริยสัจจธรรมทั้ง 4 รอบรู้ในกองสังขาร รู้ทุกข์ รู้ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ นี่เรียกว่า “ พุทโธ” เราภาวนาท่านรู้สิ่งเหล่านี้หมดเรียบร้อยเสร็จสรรพจึงเรียกว่าพุทโธเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เราภาวนาว่าพุทโธ ๆ ก็ต้องรู้เหตุของพุทโธ เหตุที่จะให้เกิดพุทโธนั้นเป็นอย่างไร นั่น......ต้องสาวหาเหตุเสียก่อน เหตุที่ทำให้เกิดพุทโธ เป็นอย่างไรนี่แหละพึงพากันตั้งใจ เวลาเราขึ้นไปหาภาวนาที่ไหน ๆ อย่าลืมพุทโธเหตุที่เกิดพุทโธเป็นอย่างไรเมื่อเรารู้จัก”พุทโธ” เหตุที่เกิดพุทโธ เป็นอย่างไรเราก็ภาวนา พุทโธ...พุทโธ ไปได้โดยสบายการไปธุดงค์ แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญเพียรภาวนาจะดำเนินไปได้ผลครบทุกประการ นอกจากที่ภูทอก วัดเจติยาคีรีวิหาร ภูสิงห์น้อย และภูแจ่มจำรัสแล้ว สถานที่อันควรวิเวกบำเพ็ญพรตภาวนา ที่น่าไปแสวงธรรมอีกแห่งหนึ่งก็คือที่ภูวัว ภูวัวเป็นสถานที่อันกว้างขวาง โอ่โถง ปลอดโปร่งน่าชม ป่าไม้ยังหนาแน่น ร่มรื่นอยู่ มีสมบัติธรรมชาติอันงดงามให้ดูอีกมาก เหมาะสมที่จะเป็นที่วิเวกอยู่หลายแห่งด้วยกัน ปัจจุบันนี้ มีสำนักสงฆ์อยู่ 3 แห่งคือ หนึ่ง....ที่ ถ้ำพระ อันเป็นที่ซึ่งท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มาสร้างพระพุทธรูปไว้ที่หน้าผาท่านพระอาจารย์อุทัย ธมฺมธโร ดูแลอยู่ สอง...ที่ถ้ำบูชา ซึ่งเป็นที่ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่หลายปีมีพระจำพรรษาอยู่ตลอดมาจนปัจจุบัน พระอาจารย์คา กาญจนวณฺโณ ดูแลอยู่และสาม....ที่น้ำตกสะแนน ซึ่งทางวัดและชาวบ้านได้ขอให้ทางกรมป่าไม้จัดเป็นวนอุทยานแห่งชาติแต่ปรากฏว่างบประมาณยังมีไม่พอกรมป่าไม้จึงแจ้งว่าจะจัดทำเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อนแต่ละแห่งล้วนแต่สงบสงัด งดงาม มี ท่อธารละหานห้วย มีโขดเขา มีน้ำตก มีแอ่งน้ำ มีพลาญหิน มีถ้ำ มีชะง่อนผาและหุบเหวเหมาะสมที่จะเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมด้วยกันทั้งนั้นสำหรับที่หลังถ้ำแก้ว ตาดปอ นั้น ก็เป็นที่พิเศษอีกแห่งหนึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์มีถ้ำมีหลืบหินมีที่หลบซ่อนภาวนาอย่างดี เหมาะสำหรับจะเป็นที่เจริญภาวนาเช่นกันอันเป็นที่หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เคยจำพรรษาอยู่หากท่องเที่ยววิเวกอยู่แถบภูวัวจนเบื่อชินชาแล้วปรารถนาจะแสวงหาที่สัปปายะแห่งอื่น ก็อาจจะต่อไปที่ภูลังกาก็ได้ ที่นี้ ท่านพระอาจารย์บุญมีกำลังปรับปรุงอยู่ โดยอาศัยบารมีของท่านอาจารย์ใหญ่พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด หรือมิฉะนั้นก็ที่สำนักท่านพระอาจารย์ทุย ที่ดงศรีชมภูอีกที่ถ้ำจันทร์และที่ดงหม้อทองที่ข้าพเจ้าเคยอยู่บัดนี้กลายเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำจันทน์และวัดป่าศิลาอาสน์(ดงหม้อทอง) แม้สัตว์ป่าจะได้ลดน้อยถอยลงไปมากแต่ก็ล้วนแต่ยังมีบรรยากาศแห่งความสงบสงัดร่มรื่นเช่นเดิม ถ้ำ ป่าไม้ ขุนเขา ยังอยู่เช่นเดิมใครต้องการไปก็เชิญไปได้มีสถานที่ต้อนรับแก่ผู้ต้องการแสวงหาความสงบอยู่เสมอ
นอกจากนั้นก็ยังมีสถานที่อื่น ๆ อีกมากมายเช่นที่ด่านนาคำ ที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโพนพิสัย การเที่ยววิเวกแถวนี้ยังมีที่ไปหลีกเร้นแสวงหาความสงบสงัดได้อีกมากทีเดียวขอเชิญท่านผู้ปรารถนา จารึกแสวงบุญทุกท่าน..........!!!