ธุดงค์ – ปฏิปทา และอานิสงส์
จะขอเล่าเรื่องการออกเดินธุดงค์ที่บนหลังภูวัวในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2522 ได้พากันออกเดินธุดงค์ภูวัว เบื้องต้นได้ขึ้นทางถ้ำพระ พักอยู่ที่ถ้ำพระ 1 คืน ที่วิเวกของถ้ำพระก็เหมาะดีเพราะเป็นที่ปลอดโปร่งหลังจากฉันเช้าแล้วก็มุ่งหน้าไปสู่ถ้ำบูชา เดินตามทางช้างและทางสัตว์ป่าบนสันเขา มีบางท่านบางคนเดินจากถ้ำพระไปถ้ำบูชาก็เมื่อยล้าปวดเมื่อยขาเจ็บเท้าบ้าง เจ็บโคนขาบ้าง บางคนถึงค่าถ้ำบูชาแล้วก็ขอแยกทางลงเขาเลยทีเดียว พักถ้ำบูชา 1 คืน เพราะมีเวลาจำกัดแล้วก็เดินธุดงค์มาที่สะแนนเดินตามสันเขาไหล่เขาบนภูวัว จากถ้ำพระมาถ้ำบูชาระยะห่างกันประมาณ 6 กิโลเมตร จากถ้ำบูชามาถึงสะแนนน้ำตกระยะห่างกันประมาณ 15 กิโลเมตรแล้วก็เดินธุดงค์มาพักที่สะแนนน้ำตก 2 คืน พากันวิเวกตามลำน้ำสะแนนแล้วได้ไปดูถ้ำเย็นถ้ำมืดระหว่างนี้ฝนตกซุกมากทางรถเข้าไปถึงน้ำตกสะแนนไม่ได้ จำเป็นต้องเดินจากสะแนนกลับภูทอกมาขึ้นรถที่ปากทาง ในปี 2522 นี้มีคณะธุดงค์ประมาณ 25-26 เป็นชาวกรุงเทพเป็นส่วนใหญ่แม้เหนื่อยแสนเหนื่อยมีผู้ใจสู้ยอมสละตายจิตรวมระหว่างกำลังเดินธุดงค์หลายคน
ส่วนในปี 2523 นี้คณะธุดงค์กรุงเทพฯมี 9 คนแต่สำหรับพวกชนบทตามหัวเมืองมีมาก รวมกันแล้วมีประมาณ 25-26 คนเท่า ๆ ออกเดินธุดงค์จากภูทอกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2523 โดยไปที่ถ้ำบูชาเป็นจุดแรก อากาศดีมาก ดีกว่าเมื่อปีก่อนซึ่งออกเดินทางกันในเดือนเมษายน อากาศร้อนจัด แต่ปีนี้ออกธุดงค์ในฤดูหนาวอากาศจึงแห้งสนิทไม่ร้อนแต่ก็ไม่หนาวพักธุดงค์ที่ถ้ำบูชา 4 คืน บางท่านบางคนก็พักอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้บ้างตามพลาญหินบ้างที่กลางแจ้งบ้างตามถ้ำบ้าง เงื้อมหินบ้าง ตามอัชฌาสัยของตนรู้สึกว่านักธุดงค์ทุกคนได้รับความปีติยินดีมากทีเดียวและนักธุดงค์ทุกคนใคร่อยากประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยธรรมชาติที่เคยได้อ่านได้ฟังประวัติของครูบาอาจารย์กันมาเช่นอยากประสบฝนตกบ้าง ประสบภัยเรื่องสัตว์ป่าต่าง ๆ บ้างดังนี้เมื่อพักวิเวกธุดงค์ที่ถ้ำบูชา 4 คืนแล้วก็เดินทางต่อไปที่หลังถ้ำแก้วห่างจากถ้ำบูชาประมาณ 8 – 10 กิโลเมตร พากันเดินไปตามทางไหล่เขาชมธรรมชาติทิวทัศน์บนหลังเขา ป่าเขาลำเนาไม้สวยมากที่ว่างเวิ้งวุ้ง อากาศปลอดโปร่งดีมาก ธรรมชาติป่าวิเศษมากทีเดียว
เมื่อถึงหลังถ้ำแก้วแล้วนักธุดงค์ก็พากันหาที่พักวิเวกตามอัธยาศัยของตน ๆ ตามรุกขมูลร่มไม้บ้าง กลางแจ้งบ้าง เพราะหลังที่ถ้ำแก้วมีพลาญหินและตาดหินกว้าง มีน้ำบริบูรณ์น้ำซับไหลตลอดมีถ้ำหลายถ้ำแต่ไม่ได้อยู่ถ้ำมาเลือกอยู่กันกลางแจ้งหมดขณะที่มาพักหลังถ้ำแก้วนี้แหละพวกคณะสมาชิกธุดงค์พากันบ่นอยากจะให้ฝนตก อยากเห็นสัตว์ร้ายคือเสือบ้างพอดีกลางคืนฝนตกพากันเปียกหมดข้าพเจ้าก็นอนตากฝนทีเดียวเปียกหมดแต่ฝนตกไม่นานแล้วก็มีสัตว์ป่ามาคือเสือมาหาสมาชิกธุดงค์บ่นอยากจะเห็นเสือ ๆ ก็มา เสือมาทดสอบดูความกล้าหาญของคณะนักธุดงค์ว่าจะเป็นผู้กล้าหาญไหมจะเป็นผู้สะทกสะท้านหวั่นไหวไหม เมื่อเสือมาแล้วตอนเช้าก็พากันมาเล่าให้ฟังว่า “ เสือมาหาผม “ เสือมาหาดิฉัน เสือมาหาหนู เกือบตายแน่ะครับ แน่ะค่ะใจสั่นริก ๆ เกือบจะช๊อคเสือมาทดสอบทรมานเอา พุทโธก็หลง ธัมโมก็หลง สังโฆก็หลง ขนพองสยองเกล้า ไม่รู้ว่าภาวนากันอย่างไรมีแต่กลัวตายสยดสยองไม่รู้จะไปที่ไหนเพราะเสือมาโยมผู้ชายที่เขาติดตามถือบริขารไปชื่อโยมคำเหวินคนบ้านสะแนนทีแรกเสือไปหาเขาก่อนเขาเป็นคนบ้านป่าเขารู้จักสัตว์ป่าดีเพราะเขาอยู่ในป่า เขาชำนาญ เขาว่าเสือใหญ่มาหายใจฮืดฮาด ๆ เหมือนแมว เขามาเล่าให้ฟังตอนเช้าว่าเขานอนตัวแข็งนอนนิ่งไม่รู้จะไปไหนเอาผ้าคลุมหัวโปงหมดแล้วพวกคณะธุดงค์กรุงเทพเสือก็ไปเยี่ยมอย่างคุณแนนที่มาจากแคนาดานั้นเสือก็ไปเยี่ยมตัวแข็งหมดตับหมดหัวใจหดกันหมดหลงภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆจะร้องให้ใครช่วยก็ไม่ได้
นับว่าคณะที่เดินธุดงค์ปี 2523 นี้ ได้ประสบเหตุการณ์หลายอย่างหลายประการชุบชีวิตของเรามีแต่เราเดินทั้งหมดเดินชมทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงามมากทีเดียว ถ้าไม่ประสบการณ์ผจญภัยอย่างนี้มันก็ไม่สนุกดีประสบเหตุการณ์อย่างนี้มันสนุกดีมากแล้วก็ได้กำลังใจอีกสถานที่ก็เหมาะดีมากที่สุดถ้ำบูชา หลังถ้ำแก้ว ล้วนแต่เป็นสถานที่เหมาะสมมากที่สุดออกจากหลังถ้ำแก้วตอนเช้าก็พากันลงจากภูวัวมุ่งหน้าสู่ภูสิงห์น้อย เดินผ่านป่าเขาตาดนกเขียนพากันพักอยู่ 1 คืน นับว่าดีมากทีเดียวเพราะที่ภูสิงห์น้อยนี้มีสำนักสงฆ์มีพระอยู่ประจำไม่ขาดมีทั้งพระและชีภูสิงห์น้อยนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้มาริเริ่มสร้าง ตั้งขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกมีพระอยู่ประจำสืบ ๆ กันมาไม่ขาดพรรษามาพักภูสิงห์ 1 คืนแล้วก็เดินทางกลับภูทอก (วัดเจติยาคิรีวิหารภูทอก) เพื่อมารับผ้าป่าที่มาจากกรุงเทพมหานคร ออกธุดงค์ปี 2523 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ลงจากภูวัววันที่ 8 มาพักที่ภูสิงห์ลงจากภูสิงห์วันที่ 9 กลับมาพักที่ภูทอกก็เพราะคณะผ้าป่าจากกรุงเทพฯซึ่งมีท่านผู้การ น.อ.ณรงค์ ดิถีเพ็ง บางเขน กรุงเทพฯพร้อมด้วยหมู่คณะจะนำผ้าป่ามาทอดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และมีคณะพวก “คนพ้นโลก” มาประสบพบกันเลยมากินมานอนร่วมกันมาด้วยรถบัส 6 คันได้เล่าเรื่องเดินธุดงค์คราวนี้ให้คณะกรุงเทพฯฟังรู้สึกสนุกสนานกันมาก คนได้ยินได้ฟังก็พลอยตื่นเต้นด้วยอยากไปเดินธุดงค์ด้วยอยากประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ บ้าง การเดินธุดงค์ทุกครั้งย่อมมีประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นพึงพากันถือเป็นเพียงอนุสรณ์ควรให้รำลึกในชีวิตของตน
การเดินธุดงค์เป็นการปฏิบัติบูชาคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่า การปฏิบัติบูชาเป็นสิ่งที่ควรบูชาอย่างยิ่งไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือนยิ่งกว่าอามิสบูชาคือการบูชาด้วยวัตถุภายนอก ยิ่งเรามีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสปสาทะอยากปฏิบัติบูชามีการธุดงค์มันก็ดีมากทีเดียวในการเดินธุดงค์ปี 2523 นี้ได้ให้นุ่งขาวสมาทานศีล 8 ทั้งหมดให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดถือเพศเป็นนักบวชเป็นชีพราหมณ์ การถือเพศเป็นนักบวชเป็นเพศที่มีเกียรติมากในทางพระพุทธศาสนาและเป็นการป้องกันอันตรายเพราะเพศนักบวชคือเพศชีพราหมณ์นี้เป็นเพศบริสุทธิ์ เป็นเพศที่สูงเป็นเพศที่พ้นจากภัยและความเบียดเบียนท่านจึงให้นุ่งขาวห่มขาวถือสมาทานศีล 8 เมื่อพวกเราพากันมีจิตศรัทธาเดินธุดงค์อย่างนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชา ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีอานิสงฆ์ มีบุญมาก หาสิ่งอื่นที่จะเปรียบไม่ได้มิหนำซ้ำพวกเราก็ยังพากันขะมักเขม้นรีบเร่งบำเพ็ญภาวนาให้เกิดมีบางคนมีจิตสงบจนถึงรวมลงถอนขึ้นมาก็เห็นกายของตนเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เพิ่มปิติยินดีนี่เป็นอานิสงส์เพราะธุดงค์ของการปฏิบัติก็เห็นผลอย่างนี้ไม่เสียเวลาไม่เสียแรงที่เดินธุดงค์ไปเป็นการคุ้มค่าไม่ขาดทุนไม่สูญกำไรเพราะธุดงค์เป็นสันเลขปฏิปทาเครื่องขัดเกลากิเลสให้เบาบางเป็นกำไรของพระวินัยพวกเราที่ได้พากันธุดงค์นับว่าเป็นผู้มีบุญวาสนามากทีเดียวพึงพากันยินดีต่อข้อปฏิบัติของตนที่เคยดำเนินมาบางคนบ่นว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยนุ่งขาวมันเป็นอย่างนี้สิ่งที่ไม่เคยประสบก็ได้ประสบมาอย่างนี้แลเดินธุดงค์ครั้งนี้ต่างคนต่างมีปิติยิ่งนักมีศรัทธาแก่กล้ายิ่งนักแล้วก็อยากเดินธุดงค์อีกต่อ ๆ ไปถ้ามีโอกาสในคืนแรกที่เดินธุดงค์ก็คราวนี้เมื่อไปถึงถ้ำบูชาภูวัวแล้ว ก็ได้เทศนาเรื่อง “ การธุดงค์ “ ธุดงควัตรมีหลายอย่างท่านตรัสไว้มีถึง 13 อย่าง แต่เราเลือกเฟ้นเอาแต่
สิ่งที่พอปฏิบัติได้สิ่งที่พอปฏิบัติได้ไม่ขัดไม่ต่อเราเพศคฤหัสถ์ก็มีหลายข้อเช่น เราฉันมื้อเดียวเป็นวัตรนี่ก็เป็นธุดงค์อย่างหนึ่งฉันหนเดียวนั่งอาสนะเดียวคือฉันจนอิ่มจึงจะลุกได้ถ้าลุกแล้วฉันอีกไม่ได้เลยในวันนั้นนี่เรียกว่าเอกาสนิกังคธุดงค์ฉันหนเดียวเป็นฉัตรและธุดงค์นี้ก็ยังมี 3 ประเภทคือ
อย่างอุกฤษฏ์อย่างกลางและอย่างเพลาอย่างอุกฤษฏ์เมื่อลงมือฉันแล้วใครเอาของมาน้อมถวายอีกก็ไม่รับไม่ฉัน
อย่างกลาง ขณะกำลังฉันอยู่ใครเอาของมาถวายก็รับได้ถ้ายังไม่อิ่ม
อย่างเพลา ถึงฉันอิ่มแล้วแต่ถ้ายังไม่ลุกจากที่นั่งถ้ามีผู้เอาของมาถวายอีกก็ฉันได้ ถ้าลุกจากที่แล้วฉันไม่ได้
เอกาสนิกังคธุดงค์นี้มี 3 ขั้นดังนี้ แล้วแต่ผู้จะเลือกปฏิบัติเอาตามจริจนิสัยของตนและความจำเป็นในสังคมเพราะธุดงควัตรไม่เหมือนพระวินัย พระวินัยถ้าล่วงเกินไม่ปฏิบัติก็เป็นโทษ เป็นอาบัติ ส่วนธุดงค์นี้ถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่เป็นโทษหรือไม่เป็นอาบัติ
ธุดงควัตรมีหลายอย่างเช่นการฉันมื้อเดียวเป็นวัตรนุ่งห่มผ้า 3 ผืนอยู่ป่าเป็นวัตรก็เป็นธุดงค์อยู่ร่มไม้เป็นวัตรก็เป็นธุดงค์อยู่กลางแจ้งเป็นวัตรก็เป็นธุดงค์เยี่ยมป่าช้าเป็นวัตรก็เป็นธุดงค์เราพอปฏิบัติได้ไม่เหลือวิสัยเนสัชชิกธุดงค์ อดนอนเป็นวัตรคือกลางวันก็ไม่นอน กลางคืนก็ไม่นอนอยู่ใน 3 อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง เป็นการทรมานทดสอบร่างกายและจิตใจของตนให้มีกำลังเข้มแข็งต่อมรณภัยและทุกขเวทนาธุดงควัตรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้เลือกปฏิบัติตามอัชฌาสัยของตน ๆ เมื่อเราปฏิบัติได้ข้อไหนก็เป็นบุญของเราแม้พระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าท่านก็ไม่ได้ถือธุดงค์ทั้ง 13 ข้อ ท่านเลือกเฟ้นเอาข้อหนึ่งตามที่ถูกกับจริตนิสัยของท่านพอที่ท่านจะประพฤติปฏิบัติได้เท่านั้น
ที่พวกเราได้เดินธุดงค์ในครั้งนี้ก็ได้ประพฤติปฏิบัติธุดงค์กันได้หลายข้อ เช่น ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ร่มไม้เป็นวัตร อยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เหล่านี้ก็นับว่าเราได้หลายข้อเหมือนกันไม่ย่อยเลยทีเดียวธุดงค์เหล่านี้แลเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเป็นสันเลขปฏิปทา เป็นธรรมที่ขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงไปทำจิตใจของเราให้อ่อนให้น้อมสงบเป็นปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายบรรดาพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์พระอริยเจ้าทุกองค์ที่จะไม่เสพธุดงค์ ไม่ปฏิบัติธุดงค์นั้นไม่มีเลยสักพระองค์เดียว ท่านต้องปฏิบัติธุดงค์ด้วยกันทุกองค์ แล้วแต่ท่านจะปฏิบัติมากน้อยเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ท่านก็ต้องถือธุดงค์ข้อใด ข้อหนึ่ง ท่านไม่ประมาทดังนี้ถึงพวกเราจะปฏิบัติไม่ได้เป็นนิจก็ตามแต่เราได้เสพได้ปฏิบัติแล้วก็ถือเป็นบุญกุศล เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้แก่กล้าต่อ ๆ ไป ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบเห็นพระพุทธศาสนาพึงพากันยินดีต่อปฏิปทาข้อปฏิบัติของตนที่ตนได้อุตส่าห์เสพธุดงค์ซึ่งเป็นการปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อานิสงส์ที่เกิดจากการปฏิบัติบูชาบูชานี้มีมากนักพรรณนาไม่ถ้วนเพราะการปฏิบัตินี้เป็นการปฏิบัติบูชาที่สูงอย่างยิ่งไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนในการปฏิบัติบูชา
อันที่จริงพระพุทธศาสนาของเราที่จะเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึงสมัยเราปัจจุบันนี้ก็อาศัยการปฏิบัติบูชานี่เองเป็นร่องรอยซึ่งมีพุทธบริษัทอันมีภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันปฏิบัติบูชาพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมา พระพุทธศาสนาจึงยั่งยืนตลอดมาจนทุกวันนี้ก็เพราะอาศัยการปฏิบัติบูชานั่งเองถ้าไม่มีการปฏิบัติแล้ว พระพุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายว่าเป็นอย่างไรดังนี้ เมื่อเราได้พากันปฏิบัติบูชาอย่างนี้พึงพากันมีความปลื้มปิติยินดีต่อจิตกุศลของตนอย่าพากันประมาทและพึงพากันมีศรัทธาเสพเข้าให้มาก ๆ อย่าเป็นผู้ถอยหลัง เพราะโลกทั้งหลายทั้งโลกภายนอกและโลกภายในตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์คือทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีเหมือนไม่มีโลกภายนอกคือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มันไม่จีรังยั่งยืนมันย่อมตกอยู่ในกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นเหตุให้เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาทุกข์ ตามกฎของโลกนั่นเอง นี่จึงว่าโลกภายนอกเป็นของไม่จีรังยั่งยืน ไม่ควรพากันหลับหูหลับตาหลับใจเพลิดเพลินอยู่ในโลภภายนอก คือ ลาภ ยศ สรรเสริญและสุข ส่วนโลกภายในนั้นคือ ตัวของเราเกิดมามันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดในเบื้องต้น ปรวนแปรในท่ามกลางดับทำลายฉิบหายในที่สุดชีวิตของเราเป็นทุกข์เป็นของไม่จีรังยั่งยืน เป็นของไม่ใช่ตนเป็นของไม่ใช่ของตนไม่ใช่ของแห่ตนเพราะเป็นของที่บอกไม่ได้เอาไว้ให้ฟังชีวิตของเรานี้เป็นของไม่จีรังยั่งยืนเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันขยับขยายมันบ่ายหน้าไปหาความตายเข้าทุกวันชีวิตมันก็สั้นนิดติดกับความตายไปทุกที ๆ ดูซิ อย่าพากันประมาทควรรีบเร่งสร้างคุณงามความดีให้เกิดให้มีขึ้น
ในชีวิตที่เป็นอยู่สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ส่วนรวมควรรีบบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นให้เกิดให้มีขึ้น คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในภายภาคหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานอย่าพากันนิ่งนอนใจ อย่านอนถมทับ อย่าปล่อยชีวิตของตนให้ล่วงเลยจากประโยชน์ทั้ง 3 ประการนี้ที่พวกเราพากันเดินธุดงค์นี้นับเป็นบุญเป็นกุศลอย่างมหาศาล เพราะเป็นการปฏิบัติบูชาซึ่งเป็นบูชาอย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนาควรตั้งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในการเดินธุดงค์
อนึ่ง การเดินธุดงค์ที่จะให้เป็นอุปนิสัยสำเร็จประโยชน์ที่ตนมุ่งมาดปรารถนานั้นก็มีจุดที่จะทำลายกิเลสอาสวะ ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยให้เกิดแก่เจ็บตายให้หมดไปจึงจะมีอานิสงส์มากมีบุญมากถ้าเดินธุดงค์เพื่อความสนุกเพลิดเพลินหรือเพื่อเยินยอสรรเสริญจากผู้ใดผู้หนึ่ง หรือเพื่อความหวังลาภสักการะก็ดีอย่างนี้ไม่ใช่การปฏิบัติบูชา เพราะเพ่งเล็งเจตนาไปในทางที่ผิดไม่มีอานิสงส์มาก แต่บุญก็ได้อยู่แต่ไม่ได้อานิสงส์มาก ไม่พ้นจากทุกข์ การธุดงค์เพื่อความสนุกคะนอง เพื่อความดีความเด่น เพื่อความเยินยอสรรเสริญจากชาวโลกนี้ไม่เป็นการเพื่อทำลายกิเลสไม่เป็นข้อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ได้ ไม่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ได้ บุญกุศลก็ได้ไม่มาก การเดินธุดงค์เพื่อความสนุกเฮฮาเพลิดเพลินหวังคำสรรเสริญเยินยอ การเดินธุดงค์แบบนี้จะว่าได้บุญก็ไม่ปฏิเสธ บุญก็ได้อยู่แต่ไม่พ้นไปจากทุกข์ดังนี้พึงเข้าใจยังไม่จัดเป็นปฏิบัติบูชาก่อน ถึงจะเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติบูชาก็เป็นการปฏิบัติบูชาที่อ่อนมาก
ส่วนการธุดงค์เพื่อมุ่งหมายทำลายเสียซึ่งกิเลสตัณหาอย่างเดียว เพราะว่าการรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาการบำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พากันบำเพ็ญปฏิบัติมา ถ้าไม่มุ่งหมายทำลายเสียซึ่งกิเลสตัณหาแล้วมันพ้นทุกข์ไปไม่ได้ แต่บุญกุศลที่ได้จากการทาน ศีล สมาธิ ปัญญาก็มีอยู่แต่ไม้พ้นทุกข์ ถ้าผู้บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาหรือทาน ศีล สมาธิ ปัญญา มุ่งหมายที่จะทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียวนี้ ความสุขก็ได้ บุญก็ได้ ทุกข์ก็พ้นไปดังนี้ การเดินธุดงค์ซึ่งมุ่งหมายทำลายแต่กิเลสอย่างเดียวนี้จึงเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่หมดทุกข์อย่างแท้จริงแท้เพราะการเดินธุดงค์นี้เป็นการทรมานกายวาจาและใจ ทุกขตังคะ ท่านแปลว่าเป็น สันเลขปฏิปทาธรรม เป็นธรรมอันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงและหมดไปเป็นปฏิบัติบูชาเราเดินธุดงค์มุ่งหน้าที่จะทำลายแต่กิเลสตัณหาออกไปจากตัวของเราคือ จากใจของเรามีอานิสงส์มากมีคุณมากมีประโยชน์มากจึงจะถึงประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพาน
ส่วนประโยชน์ในปัจจุบันการงานอันใดที่ปราศจากโทษที่เราจะประพฤติปฏิบัติในทางธุดงค์นี้เรียกว่าทำเป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่นเพราะธุดงควัตรเป็นการงานที่ปราศจากโทษไม่เบียดเบียนใครเมื่อเราปฏิบัติได้แค่ไหนก็เป็นทรัพย์ของเราที่เรียกว่า”ทรัพย์ภายใน”คือ”อริยทรัพย์”เมื่อเราปฏิบัติได้แค่ไหนก็รักษาทรัพย์สมบัติคือ คุณงามความดีของเราไว้ไม่ให้เสื่อมเสียไปอันทรัพย์สมบัติของเราที่จะเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป การงานของเราจะปราศจากโทษก็เพราะการคบคนดีเป็นเพื่อนเป็นมิตรคอยแนะนำตักเตือนสั่งสอนอยู่แม้การเลี้ยงชีวิตก็บริสุทธิ์ตามมีตามได้ไม่ทะเยอทะยานในการเลี้ยงชีวิต เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดสำเร็จอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพชอบการไปธุดงค์นับว่าได้ทำประโยชน์ในปัจจุบันให้เต็มบริบูรณ์เหมือนกัน
ส่วนประโยชน์ในภายภาคหน้านั้น เมื่อเรามีศรัทธาความเลื่อมใสในบุญในกุศลในธุดงค์ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แม้จะเป็นศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือศีล 227 ข้อ เราก็รักษาตามขั้นตามภูมิมิได้ล่วงเกินมิได้ประมาทในศีลจาคะสัมปทาเราก็เป็นผู้มุ่งทำลายซึ่งกิเลสตัณหาอันเป็นข้าศึกแห่งใจทำใจให้เศร้าหมอง สุตะสัมปทาเราก็เป็นผู้สดับตรับฟังคำสอนของนักปราชญ์คือ ของพระพุทธเจ้าและคำสอนของพระอริยเจ้าทั้งหลายให้รู้จักทุกข์เหตุให้เกิดทุกข์ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ดังที่พวกเราเสพในธุดงควัตรนี่ก็คือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ธุดงควัตรคือ พวกศีล สมาธิ ปัญญานี่เองคือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์สุตะสัมปทาคือพร้อมด้วยการสดับตรับฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและนักปราชญ์ทั้งหลายปัญญาสัมปทาถึงพร้อมด้วยปัญญาคือ ความรอบรู้ บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์แลมิใช่ประโยชน์สิ่งใดที่เป็นประโยชน์รีบเร่งให้มีขึ้นทั้งประโยชน์ปัจจุบันประโยชน์ภายภาคหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานปัญญาสัมปทารู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ให้รอบรู้ในกองสังขารทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาท่านให้รอบรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตา
สิ่งที่ไม่เที่ยงมันอยู่ที่ไหนมันกองอยู่ที่ไหนอัดแอยัดเยียดเสียดกันอยู่ที่ไหน อะไรเป็นสังขาร สังขารสิ่งที่ไม่เที่ยง มันกองอยู่คือขันธ์นี่เอง ได้แก่ ขันธ์ทั้ง 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรียกว่าขันธ์มันกอง ๆ อยู่นี่สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตามันกองอยู่ที่นี่ในรูปในนามคือขันธ์ 5 ความเกิดมันกองอยู่ที่นี่ความแก่ความเจ็บความตายมันล้วนแล้วแต่กองอยู่ที่นี่เป็นกองสังขารทั้งหมดให้พึงกำหนดรู้พิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเป็นของไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของของตน ไม่ใช่ของแห่งตน มันก็กองอยู่นี่.....ในตัวเรา พิจารณาดูซี สิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตามันกองอยู่ที่ไหน มันมีที่ไหนตามันเที่ยงไหม หูมันเที่ยงไหม จมูกมันเที่ยงไหมลิ้นกายใจล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง ตาก็นับวันจะมืดจะมัวลง หูก็นับวันจะตึงจะหนักจะหนวก จมูกนับวันแต่จะจืดจะจางจากกลิ่น ลิ้นนับวันจะจืดจะจางจากรสกายนับวันจะถดถอยน้อยกำลังวังชาลงไปจะเหี่ยวจะแห้งถึงแก่ความตายลงไปจิตใจนับวันจะหลงจะลืมไปสิ่งไหนมันเที่ยงบ้างอย่างผมนับวันแต่จะหงอกจะขาวไปในร่างกายของเรานี้ทุกสิ่งทุกอย่างนับวันแต่จะทรุดโทรมเหี่ยวแห้งทำลายลงไป ทุกวันทุกเดือนทุกปี มีแต่มันทรุดลง มันเสื่อมลง ผลที่สุดก็ทำหายฉิบหายไปเท่านั้น
นี่คือปัญญาท่านให้รอบรู้ในกองสังขารทั้งหลายสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตามันกองอยู่ที่นี่แม้กิเลสตัณหามันก็เป็นตัวสังขาร เป็นตัวการของสังขารของไม่เที่ยงมันอยากโน่นอยากนี่มันรักโน่น รักนี่ มันชังโน่นชังนี่ เดี๋ยวมันเกลียดโน่นเกลียดนี่อยู่ไม่มีที่สิ้นสุดทำให้จิตใจของเรากวัดแกว่งดิ้นรนกระเสือกระสนกระวนกระวายอยู่ไม่รู้แล้วเพราะเหตุแห่งกิเลสตัณหามันเป็นสังขาร ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันกองอยู่ที่ไหน มันกองอยู่ที่ใจของเรานี่เอง นี่เป็นปัญญาสัมปทา ท่านให้รอบรู้ในกองสังขารทั้งหลายเกิดแล้วมีแก่มีเจ็บมีตาย นี่คือประโยชน์ในภายภาคหน้า
สทฺธาสมฺปทา มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในบาปในบุญ
สีลสมฺปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาศีล
จาคสมฺปทา ถึงพร้อมด้วยการสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแห่งใจของตัวเองทั้งภายในและนอก
สุตสมฺปทา ถึงพร้อมด้วยการสดับตรับฟังคำสั่งสอนของนักบวชนักปราชญ์
ปญฺญาสมฺปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญารอบรู้บาปบุญคุณโทษทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ในของสำคัญทั้งหลาย เหล่านี้เป็นประโยชน์ภาคหน้า
ส่วนประโยชน์อย่างยิ่งคือ พระนิพพานนั้น พระนิพพานแปลว่า ความดับหรือว่างตามที่ท่านตรัสว่า”นิพฺพาน ปรมํ สุญฺญํ” พระนิพพานนั้นเป็นการว่างอย่างยิ่ง”นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” พระนิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่งจะหาความสุขอย่างอื่นเสมอเหมือนไม่มี คำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ พระนิพพานเป็นการว่างอย่างยิ่ง สูญอย่างยิ่ง
ว่างจากอะไร สูญจากอะไร ว่างจากกิเลสตัณหาถ้าหากยังมีกิเลสตัณหาอยู่มันไม่ว่าง เมื่อกิเลสตัณหา ไม่ว่างจากจิต จิตไม่ว่างจากกิเลสตัณหามันจะหาความสุขจากที่ไหน ผู้ต้องการอยากมีความสุขอันแท้จริงต้องชำระกิเลสตัณหาจากใจของเรา ต้องให้จิตใจของตนเองปราศจากกิเลสตัณหาจึงจะถึงความสุขอย่างแท้จริงคือพระนิพพาน ดังนั้นการเดินธุดงค์ของเราท่านทั้งปวงจึงควรพากันมุ่งเจตนาทำลายกิเลสตัณหาจากใจของตนจึงจะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งเป็นปฏิบัติบูชาอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาของเราที่จะเจริญรุ่งเรืองมาตลอดถึงปัจจุบันก็เพราะการปฏิบัติบูชาสืบทอดมาให้เราเห็นเป็นร่องรอย ถ้าขาดการปฏิบัติบูชาแล้วพระพุทธศาสนาก็อับปางพินาศลงเท่านั้น แม้มรรคผลนิพพานคือ โสดา สกิทาคา อนาคา ตลอดถึงพระอรหันต์จะเกิดขึ้นได้ ปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะปฏิบัติบูชาอย่างเดียว แม้จะเป็นอามิสบูชาภายนอกก็น้อมเข้ามาเป็นการปฏิบัติบูชาภายในได้เพื่อทำลายกิเลสตัณหาก็เป็นปฏิบัติบูชาทั้งนั้น
ฉะนั้น ที่พวกเราเดินธุดงควัตรจึงได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติบูชาพึงพากันมีความปลื้มปิติยินดีต่อธุดงควัตรที่ตนได้ปฏิบัติมา การบำเพ็ญบุญ รักษาศีล ภาวนาการเดินธุดงควัตรให้มุ่งทำลายกิเลสตัณหาของตนจึงเป็นบุญกุศล บุญก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้นไป การปฏิบัติอย่างนี้มุ่งอย่างนี้คือมุ่งจะทำลายกิเลสให้หมดไป การปฏิบัติธุดงค์การให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาเมื่อเราบำเพ็ญเพื่อทำลายกิเลสตัณหาแล้ว ท่านจึงว่านี่เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ไม่ต้องสงสัยเลยไม่มุ่งหวังไปอย่างอื่น ที่พวกเราท่านทั้งปวงพากันเดินธุดงค์ก็นับว่าเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างยิ่งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นบุญเป็นกุศลของตน พึงพากันปิติยินดีต่อธุดงควัตรที่เราได้เสพได้ปฏิบัติมา พึงพากันเพิ่มศรัทธาความเชื่อถือให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่าพากันถอยหลังทีเดียว บุคคลที่มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสที่จะเสพธุดงค์นี่ เป็นของที่หายากยิ่งนักไม่ใช่เป็นของหาได้ง่าย ๆ นี่ชื่อว่าพวกเราทำชีวิตของเราไม่ให้ว่างจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราทำชีวิตให้เปี่ยมไปด้วยประโยชน์ 3 ประการคือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน แม้ถึงเราจะไม่มีวาสนานิสัยได้สำเร็จมรรคผลชั้นใดชั้นหนึ่งในชาติปัจจุบันนี้ก็ตามแต่คุณงามความดีของเราที่บำเพ็ญไว้ก็จะเป็น นิสฺสํสยํ จะได้เป็นอุปนิสัยติดตามเรา ให้นิสัยของเราแก่กล้าเจริญขึ้น จนกว่าจะได้สำเร็จนิพพานสมบัติ ถ้าหากเราได้ละขันธ์แตกกายทำลายไปก็มีแต่สุคติเป็นที่ไป คือ มนุษยสุข สวรรคสุข ตลอดถึงนิพพานสุขไม่มีความสงสัย สมดัง เวสฺสนฺตร ชาดกที่พระองค์ตรัสไว้ว่า
ทานํ เทติ สีลํ ลพฺภติ
ภาวนํ ภาเวตวา เอกจฺโจ สคฺคํ คจฺฉติ
เอกจฺโจ โมกฺขํ คจฺฉติ นิสฺสํสยํ
ดังนี้ ความว่า บุคคลผู้มีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสน้อย บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา ก็น้อยคือมีเจตนาจะทำลายกิเลสตัณหาน้อย บุคคลผู้นั้นก็มีความสุขน้อย มีมนุษยสุขน้อย สวรรคสุขน้อย เพราะเหตุที่มีศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติปัญญาก็น้อย
แต่ถ้าบุคคลใดมีความเชื่อ ความเลื่อมใสมาก ความเพียรมาก บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนามาก สติปัญญามากเสพบ่อย ๆ พิจารณาบ่อย ๆ ปฏิบัติบ่อย ๆ มามากพร้อมด้วยวาสนาหนหลังประกอบอีก บุคคลนั้นอาจจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน ไม่มีความสงสัย ถ้าคุณงามความดีที่เขาบำเพ็ญไว้ใน ทาน ศีล ภาวนา ยังไม่สำเร็จนิพพานในชาติปัจจุบัน นิสฺสํสยํ บุญกุศลที่เกิดจาก ทาน ศีล ภาวนา นั้นก็จะเป็นอุปนิสัยให้แก่กล้าจนได้สำเร็จพระนิพพานสมบัติในภายภาคหน้า ดังนี้ โดยไม่ต้องมีความสงสัยเลย
ดังนั้นการเดินธุดงค์ก็ดี การบำเพ็ญทานศีลภาวนาก็ดี ให้พากันมุ่งหน้าทำลายกิเลสตัณหาเท่านั้น จึงจะเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างยิ่ง เพราะกิเลสตัณหาเป็นตัววัฏฏะที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเกิดแก่เจ็บตาย ให้เป็นทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุดอันที่จริงสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายให้เป็นทุกข์ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุดในโลกสามก็เพราะกิเลสตัณหานี่เองเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยไม่ใช่อย่างอื่น การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาการเดินธุดงค์ถ้าไม่มุ่งหวังทำลายกิเลสตัณหาแล้วก็ได้บุญน้อย ทุกข์ไม่พ้น แต่สุขก็มีอยู่ มนุษยสุขสวรรคสุขมีอยู่แต่ไม่ถึงนิพพาน ไม่พ้นจากทุกข์ การบำเพ็ญทานรักษาศีล เจริญภาวนา ถือธุดงควัตร ถ้ามุ่งหมายทำลายกิเลสตัณหานั้น สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้น มีอานิสงส์มาก เพราะเหตุแห่งกิเลสตัณหานี้เป็นรากเหง้าเค้ามูลเป็นสมุฏฐานให้เกิดทุกข์ทั้งปวงเกิดในกำเนิด 4 ในคติ 5 ในภพทั้ง 3 เพราะเหตุแห่งกิเลสตัณหามิใช่อย่างอื่น อันสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในภพน้อย ภพใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็มีแต่รูปนามคือขันธ์5 นี้เท่านั้นเป็นสัตว์ทั้งหลายมิใช่อย่างอื่นแต่รูปนามคือขันธ์ 5 ที่เกิดปรากฏขึ้นก็อาศัยกิเลสตัณหาเป็นตัวเหตุตัวปัจจัย ท่านให้กำหนดรู้ ให้รู้ว่าการเกิดแก่เจ็บตายนี่เป็นทุกข์ แม้จะเกิดในกำเนิดไหนในคติไหนในภพไหนขึ้นชื่อว่าเกิดแล้วเป็นรูป เป็นนาม เป็นสังขารล้วนแล้วแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้นและทุกข์ต่าง ๆในกำเนิด ในภพต่าง ๆ จะเกิดขึ้นนั้นเพราะอาศัยกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยเรียกว่าตัวสมุทัยคือตัณหาความอยากนี่เอง อันตัณหาคือความยากนี้แลเป็นตัวเหตุให้เกิดภพอีก คือให้เกิดทุกข์อีกไม่มีสิ้นสุด นนฺทิคือ ความยินดี ราค คือความกำหนัด ตตฺตร ตตฺตราภินนฺทินี ความลุ่มลงเพลิดเพลินฟุ้งเฟ้อ ตามความรัก ความกำหนัด ความยินดีที่ตนเองมีอยู่ที่จิตที่ใจของตน มีความใคร่ความอยากในกามารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น ตลอดทั้งกายและใจมีความทะเยอทะยานอยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่งขึ้นมีความทะเยอทะยานไม่อยากมีไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ ตัณหาคือความอยากเหล่านี้แลเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ต้องการที่จะดับทุกข์ต้องดับเสียซึ่งตัณหาคือความยาก ถ้าไม่ดับตัณหาคือความอยาก ทุกข์ก็ไม่หมด เมื่อเป็นผู้มีปัญญากำหนดรู้ว่านี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้วเราไม่ต้องการเสวยทุกข์อีกต่อไป เราต้องดับตัวเหตุตัวปัจจัยให้หมดไปคือตัวตัณหานี้ทุกข์จึงจะดับ
ฉะนั้น ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ท่านจึงเจาะจงบ่งเฉพาะดับตัณหาอย่างเดียวไม่ดับอย่างอื่น ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์นั้น ท่านชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าคือ ทำตัณหานี้แลให้สิ้นไปจากใจของเราคือความละตัณหา วางตัณหา ปล่อยตัณหา สละ สลัด ตัดขาจากตัณหาคือความอยากไปจากใจของเราทุกข์จึงจะหมดนี่คือธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์พึงเข้าใจ
ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เองเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ฉะนั้น การถือหรือการรักษาศีล สมาธิ ปัญญา การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ถือธุดงควัตร ท่านจึงมุ่งหวังเจตนาให้ทำลายกิเลสตัณหาซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์จึงจะเป็นอานิสงส์มากจึงจะพ้นทุกข์จึงจะเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์เป็นการปฏิบัติบูชาอย่างยิ่ง พึงเข้าใจไม่ใช่ปฏิบัติเพื่ออย่างอื่น การบำเพ็ญทานศีล เจริญภาวนาหรือ ศีล สมาธิ ปัญญา มุ่งหวังทำลายกิเลสตัณหาจากใจของเราเพราะกิเลสตัณหาอันนี้เป็นตัวเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์
การรักษาศีล เจริญภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญานี้ ถ้าไม่มุ่งหวังทำลายกิเลสตัณหาแล้วก็ไม่มีความหมายอย่างไร ทุกข์ก็ไม่พ้นสุขก็อาจมีอยู่บุญก็อาจได้แต่ไม่พ้นทุกข์เพราะไม่มุ่งหวังที่จะดับทำลายกิเลสตัณหา ซึ่งเป็นตัวเหตุตัวปัจจัยถ้าผู้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา มุ่งหวังทำลายกิเลส ตัณหาอย่างเดียวพ้นไปจากทุกข์ บุญก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็พ้นถ้าผู้บำเพ็ญทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มุ่งหวังอย่างอื่นมุ่งขยี้ทำลายล้างกิเลสตัณหาเท่านั้นก็สามารถพ้นทุกข์ได้ จะรักษามากหรือน้อยไม่เป็นปัญหาเป็นปัญหาที่มีเจตนาทำลายล้างผลาญกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปเท่านั้น
ฉะนั้น การออกเดินธุดงค์ทุกครั้งทุกคราวทุกสมัยของพระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้าที่ท่านปฏิบัติมา ท่านมุ่งอย่างเดียวเท่านั้นคือมุ่งหวังทำลายกิเลสตัณหาทั้งนั้น ไม่มุ่งอย่างอื่น แม้ท่านจะประสบภัยอันตรายภายนอกเช่น ผีปีศาจ สัตว์ร้าย ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่เกรงกลัว สัตว์ร้าย ผีร้าย เหล่านั้นท่านไม่เกรงกลังเหมือนกิเลสตัณหาอันเป็นสัตว์ร้าย ผีร้าย ที่น่ากลัวที่สุดทีเดียว ซึ่งทำให้ต้องเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด อาวุธของท่านมีพร้อมคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปราบปรามสัตว์ร้ายคือกิเลสทั้งหลายให้หมดไปจากใจของท่านถ้าผู้มีอาวุธดีมีคาถาดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วคุ้มกันภัยอันตรายภายในและภายนอกได้ ไม่เป็นผู้สะทกสะท้านหวั่นไหวไม่เป็นผู้กลัวไม่เป็นผู้หนี เป็นผู้องอาจ แกล้วกล้าต่อธรรม ส่วนผู้มีจิตยังหยั่งไม่ถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็ยังเป็นผู้กลัว สะทกสะท้านหวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลนอยู่นั่นเอง
ฉะนั้น การถือธุดงคปฏิบัติธุดงค์ พึงพากันมุ่งทำลายกิเลสตัณหาอย่างเดียว จึงจะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง พ้นทุกข์ไปได้มีอานิสงส์มากเป็นการปฏิบัติบูชาอย่างยิ่งดังนี้แล พึงเข้าใจ
ได้แสดงปฏิปทาการออกธุดงค์มาเป็นลำดับ ๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ขอยุติแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
----------------------------------------------------
โยนตำราเผาไฟทิ้งเสียก่อน ทางพระกัมมัฏฐาน ท่านสอนให้ปฏิบัติไปภาวนาไป วันหนึ่งก็รู้เอง เห็นเอง มัวไปคาดว่าอย่างโน้น คาดว่าอย่างนี้ รู้ก่อนเกิด มันก็เลยไม่เกิดสักทีพวกเรียนมามากตามตำรา แต่ไม่ปฏิบัติ กับพวกปฏิบัติแต่ไม่ได้เรียนตำรา มันก็เปรียบเหมือน...คนหนึ่งพูดเรื่องเชียงใหม่ อ่านแต่เรื่องเชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นอย่างไร ผู้คนเป็นอย่างไร ให้เขียนกี่เล่มสมุดไทก็ได้ แต่ก็เป็นตามตำรา ไม่เหมือนอีกคนหนึ่งไม่ต้องอ่านตำรา ออกมุ่งหน้าเดินทางไปเชียงใหม่ไปถึง ก็เห็นเอง รู้จักเอง พบกับคนที่อยู่เชียงใหม่ด้วยกัน ก็พูดกันรู้เรื่อง เชียงใหม่เป็นอย่างไรหรืออีกนัยหนึ่ง เหมือนคนเรียนเรื่องปวดฟัน คนไม่เคยปวดฟัน ไม่เคยหาย อ่านตำรามาเท่าใดก็อธิบายไปอย่างนั้นเองมันไม่เคยเป็น เป็นอย่างไร หายปวดฟันเป็นอย่างไร แต่คนเคยปวดฟันแล้ว พูดกันสองสามคำก็รู้ว่า มันปวดอย่างไรเวลาหายปวดแล้วมันโล่งอกสบายอย่างไร

วันธุดงค์กลับจากภูสิงห์น้อย พอมาถึงภูทอกใหญ่ชาวบ้านวิ่งไปรับเป็นขบวน

ธุดงค์กลับมาถึงสะพานหิน สะแนน 10 เมษายน 21