
ชีวิตของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน
สมัยก่อนนั้น การคมนาคมลำบากมากเพราะไม่มีหนทางถ้าจะไปหากันต้องเดินทั้งนั้น ไปอำเภอก็ต้องนอนค้างกลางทางจึงจะถึงอำเภอ ส่วนการศึกษาเล่าเรียน แถบนั้นไม่มีโรงเรียนเลย อยู่กันอย่างป่า ๆ เถื่อน ๆ คนไม่รู้หนังสืออะไรเลย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เข้าไปไม่ใคร่ถึง เพราะกันดารมาก เดี๋ยวนี้การคมนาคมสะดวก การศึกษาก็มีทั่วกัน สมัยก่อนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นไข้ป่ากันมาก คนตายกันเพราะไข้ป่าปีหนึ่ง ๆ มากทีเดียว แต่สมัยนี้ดูจะลดปริมาณลงไปจนเกือบไม่มีแล้ว เพราะการแพทย์และการคมนาคมดีมาก พอเริ่มเจ็บไข้ก็ได้ยา ได้หมอ ทันท่วงที บ้านเมืองสมัยนั้นการกินอยู่ยังลำบากยากแค้นมาก การเดินทางไปมาหาสู่กันก็ลำบาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่สะดวกสบายทุกอย่าง พวกกรุงเทพฯ เดินทางไปได้ตลอดมีทั้งรถทัวร์ รถเล็ก รถใหญ่ ไปได้ไม่ขัดข้องเลยทีเดียว
สมัยที่ข้าพเจ้าอยู่ดงหม้อทอง เวลาออกพรรษาต้องเดินหาวิเวกทั้งนั้น เดินขึ้นไปภูวัว ภูทอง เดินจากดงหม้อทองไปภูวัว 3 คืน จึงจะถึง แล้วก็ไปวิเวกที่ดงศรีชมภู การเดินบางครั้งก็นานกว่านี้อีก เช่นต้องเดินจากดงหม้อทองไปจังหวัดเลยถึง 9 คืน เดินจากจังหวัดเลย ไปพิษณุโลกอีก เดินไปเชียงใหม่ เดินไปเชียงตุง...อย่างนี้แหละ
ชีวิตของพระธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นชีวิตที่ยากแค้นลำเค็ญเหลือเกิน ต้องบุกป่าฝ่าดงดอน นอนตามป่าตามเขาไปทั้งนั้น ส่วนอาหารขบฉันนั้น แม้จะหิวจะโหยจะอดจะอยากอย่างไรก็ต้องใช้ขันติความอดทนเอา การเดินทาง แม้จะยากลำบากยากแค้น ก็ใช้ความอดทนเอา ...พิจารณาเรื่องของทุกข์ ว่าเราเกิดมามันต้องทุกข์ ถ้าเรายังเกิดอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องทุกข์อยู่อย่างนั้น ทุกข์เพราะความลำบากยากแค้น และทุกข์เพราะกันดารและการเดินยังไม่เท่าไร ทุกข์เพราะความเกิดแก่เจ็บตายนี่ซี...มันไม่รู้แล้ว ทุกข์เพราะทำความชั่ว ความเสียหาย ทำบาป ทำกรรม แก่ตนให้ไปตกนรกไฟเผาเร่าร้อน นี้มันแสนที่จะทุกข์ทรมาน
ที่เราเดินไปเที่ยวบำเพ็ญคุณงาม ความดี อาศัยขันติ ความอดทนนี้ชื่อว่าเราทุกข์แต่กาย ส่วนใจของเราไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ทำความชั่ว เราประกอบแต่คุณงามความดี นี้ก็สบายใจหน่อย ถ้าเราไม่พ้นทุกข์ คุณความดีเราได้ตั้งใจบำเพ็ญไว้ ด้วยความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจาและบริสุทธิ์ใจนี้ ก็จะเป็นคติที่ดี เราจะได้ไปสู่สุคติเมื่อเวลาตาย คือมนุษยสุข สวรรค์ สุข และพระนิพพานสุข
ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานสมบัติ คุณความดีที่เราสร้างไว้ด้วยความตั้งใจ ก็จะเป็นอุปนิสัยติสอยห้อยตามเรา ให้ได้รับความสุขความเจริญในคติ และกำเนิดในภพต่าง ๆ จนกว่าจะถึงพระนิพพานสมบัติ เมื่อคิดเช่นนี้ คิดขึ้นในทางการบำเพ็ญคุณความดี ใจก็ชื่นบานไม่มีความทุกข์ในใจ ส่วนกายนั้น ทุกข์ระกำลำบากมากที่เดียว เท้าก็เจ็บ ขาก็ปวด ทั้งหิว ทั้งร้อน ทั้งหนาว สารพัดแต่ที่จะทุกข์ทรมานทางกาย
ทางใจจะพิจารณาเรื่องของ “ ทุกข์ “ อยู่เสมอ ๆ พิจารณาประวัติของพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้า พระพุทธเจ้าท่านเป็นนักเสียสละอย่างยอดเยี่ยมไม่มีใครเทียบถึง ท่านเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ ทั้งเป็นกษัตริย์สุกุมาลชาติอันละเอียดสูงสุด ไม่มีกษัตริย์ใดในสมัยนั้นจะทัดเทียมเสมอหรือยิ่งกว่า ท่านยังสามารถสละราชบัลลังก์และราชสมบัติออกบรรพชา เพื่อแสวงหาโมกษธรรม พระองค์เสด็จไปในที่ต่าง ๆ อาหารการขบฉัน หรือ ปัจจัย 4 ก็ แล้วแต่จะมีจะเป็น ท่านเสด็จด้วยพระบาท – คือเท้าทั้งนั้นขึ้นเขานั้นลงเขานี้ บางครั้งท่านถึงกับทรมานพระวรกายอดพระกระยาหาร อดหลับอดนอน จนสลบตายไปถึง 3 ครั้ง อย่างนี้ก็มี ท่านก็ยังไม่ทรงย่อท้อ ส่วนตัวเรานี้ไม่ถึงท่าน ที่ไหนจะท้อถอยเล่า ท่านเป็นนักเสียสละจริง ๆ ไม่เห็นแก่ความตาย ไม่เห็นแก่ชีวิต ท่านจึงพ้นไปจากทุกข์ได้
เมื่อพิจารณาประวัติของพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมศาสดาดู ระลึกถึงประวัติของท่านแล้ว ก็ทำให้ใจฮึกเหิม ห้าวหาญและชุ่มชื่น หายจากความท้อแท้ของใจถ้าเมื่อใดทุกข์ หรือความท้อแท้เข้ามาครอบงำ ข้าพเจ้าต้องพิจารณาประวัติของพระพุทธเจ้าให้เป็นที่ประทับใจเสมอ ๆ
บางทีก็พิจารณาคำสอนของท่าน – โดยเฉพาะคำสอนที่ท่านให้เป็นนักเสียสละ ในคำสอนบทหนึ่งท่านสอนว่า “ บุคคลผู้จะรักษาไว้ซึ่งอวัยวะอันประเสริฐ พึงเสียสละซึ่งทรัพย์นั้น เพราะทรัพย์ไม่ประเสริฐเหมือนอวัยวะ
ข้อนี้ขออธิบาย คำว่า “ อวัยวะ “ คือร่างกายของเรานี้เอง ถ้าร่างกายของเรามีโรคกำเริบเสิบสานขึ้นส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้าไม่สละทรัพย์มาพยาบาลร่างกายนั้น อาจจะทำให้โรคกำเริบเสิบสานเสียอวัยวะของร่างกายไป จำเป็นต้องสละทรัพย์ เพื่อมาพยาบาลอวัยวะส่วนนั้นให้ดีขึ้น เพราะทรัพย์ไม่ประเสริฐเหมือนอวัยวะถ้าอวัยวะส่วนนั้นเสีย ก็ขาดความสุขความเจริญเท่านั้นเอง
บทที่ ๒ ท่านสอนว่า “ ถ้าผู้จะรักษาไว้ซึ่งชีวิตอันประเสริฐ พึงสละเสียซึ่งของ ๒ อย่าง คือ อวัยวะและทรัพย์นั้นเสีย เพราะอวัยวะและทรัพย์ไม่ประเสริฐเหมือนชีวิต “
ข้อนี้อธิบายว่า ชีวิตเป็นของประเสริฐกว่าอวัยวะและทรัพย์ ถ้าหากโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นในร่างกายของเราจะถึงแก่ชีวิต จำเป็นเราต้องยอมตัดอวัยวะส่วนที่เป็นโรคนั้นมิให้ติดต่อส่วนอื่น ๆ ถ้าไม่ตัดออกก็จะเป็นเหตุให้ติดต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ กำเริบขึ้นและทำให้เสียชีวิต ฉะนั้นอวัยวะส่วนที่เป็นโรคนั้นแล ไม่เป็นของประเสริฐ ต้องสละเสีย ไม่ประเสริฐเหมือนชีวิตจึงว่าผู้จะรักษาไว้ซึ่งชีวิต พึงละเสียซึ่งของ 2 อย่าง คืออวัยวะและทรัพย์นั้นเสีย
บทที่ ๓ “ ผู้ระลึกคิดถึงอยู่เนือง ๆ ซึ่งคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นของประเสริฐ พึงสละเสียซึ่งของ 3 อย่างนั้นไม่ประเสริฐเป็นของไม่จีรังยั่งยืน มีแล้วก็เสื่อมสิ้นฉิบหายไป ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้พ้นทุกข์ พ้นภัย เป็นของที่มีสาระ มีแก่นสารไม่เสื่อม ไม่โทรม ไม่ฉิบหาย คือ หมายความว่า ผู้ถึงธรรมอันแท้จริงแล้ว เป็นผู้ที่ไม่เสื่อม ไม่ฉิบหาย ไม่ม้วยมรณ์ดังนี้
เมื่อพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ใจก็เกิดความห้าวหาญ ได้รับความปิติ ชุ่มชื่น เกิดศรัทธาความแก่กล้า เกิดขันติ ความอดทน ความเพียร ใจก็สบาย หายจากความเหน็ดเหนื่อย หายจากความเดือดร้อนและความทุกข์นานาประการขณะที่เดินธุดงคกัมมัฏฐานไปในที่ต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าจะเดินเฉย ๆ ต้องคิดต้องพิจารณาเรื่องต่างๆ เรื่อยไปและก็ย้อนมาพิจารณาประวัติพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ประวัติของแต่ละท่าน แต่ละองค์ ๆ ท่านปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ ท่านไม่เห็นแก่ความยากความลำบาก ไม่เห็นแก่ชีวิต ไม่หวงชีวิต ท่านเห็นชีวิตเป็นของต่ำกว่าธรรม เห็นธรรมเป็นของมีคุณค่ามีประโยชน์มหาศาลยิ่งกว่าชีวิต ท่านจึงเป็นนักเสียสละ ประพฤติปฏิบัติ ไม่เห็นแก่ความเกียจ ความคร้าน ท่านไม่ท้อถอย อย่างประวัติสาวกองค์นั้นองค์นี้มีแต่เด็ดเดี่ยว นักเสียสละทั้งนั้น และพระสงฆ์ผู้ท่านที่จะพ้นไปจากทุกข์ จากความเดือดร้อนนั้น ท่านเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ปฎิบัติตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง เพื่อออกไปจากทุกข์
เพื่อความรู้ยิ่ง เห็นจริง ....
เห็นอะไร ?
เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ เห็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ท่านเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติกายให้ชอบ วาจาให้ชอบ ใจให้ชอบเมื่อท่านเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในลักษณะนี้ ไม่ท้อถอย ย่อย่นไม่ลดละไม่เห็นแก่ชีวิตและความลำบาก ผลที่สุด ท่านก็พ้นไปจากทุกข์ได้
เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ทำให้ใจห้าวหาญมีศรัทธา เบิกบาน มีความเพียรขึ้น มีมานะ ขันติ ความอดทนทีเดียว
นี่แหละชีวิตของพระป่ากัมมัฏฐาน ยากแค้นลำเค็ญสักปานใด บางครั้งบางสมัยเมื่อเดินป่า เดินดงหลงหนทาง กลางป่ากลางดง ก็นอนกลางป่ากลางดงเหมือนหมู่สัตว์ป่า มีบางครั้งบางคราว บางองค์ก็ถึงกับตายกลางป่าก็มี กระดูกของพระกัมมัฏฐาน และบริขารกัมมัฏฐานตายกองอยู่บนหลังเขาก็มี สมัยเรานี้ แหละ สมัยหลัง ๆ นี้แหละ ท่านจะตายด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ เพราะว่าข้าพเจ้าได้ฟังมาอีกทอดหนึ่งจากเพื่อนพระกัมมัฏฐานคือ หลวงปู่กอง
หลวงปู่กอง ขณะนี้ท่านเองก็มรณภาพแล้ว สมัยที่ท่านอยู่ร่วมกับข้าพเจ้าที่ดงหม้อทองท่านเล่าว่า ท่านได้เดินธุดงค์ไปที่ภูเขาลูกหนึ่งในจังหวัดเลย ท่านเดินหลงทาง จนค่ำหมดเวลาต้องนอนอยู่กลางภูเขา ตื่นเช้าเดินต่อไปก็เจอกองกระดูก เห็นกลด เห็นบาตร และบริขารพระ แต่ว่ากลดและผ้านั้นขาดหมดแล้ว ยังเหลือแต่บาตร เมื่อเห็นอย่างนี้ ท่านก็เลยอธิษฐานว่าขอให้หาทางกลับถูก แล้วจะพาญาติโยมมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ท่านก็เลยเดินไป พอดีไปพบหนทางเข้าหมู่บ้าน ท่านก็เลยเดินเข้าไปตามทางนั้นจนถึงหมู่บ้านได้แล้วท่านก็พาญาติโยมกลับไปทำบุญที่กองกระดูกนั้น 3 วัน 3 คืน นี่แหละ พระกัมมัฏฐานต้องเอาชีวิตเสี่ยงต่อความตาย และท่านองค์นั้นจะตายด้วยเหตุใดไม่ทราบไม่มีใครทราบ จะตายด้วยอดอาหารหรือทรมานอย่างใดไม่มีใครทราบ
นี่เป็นเรื่องที่หลวงปู่กองเล่าให้ข้าพเจ้าฟังสมัยอยู่ดงหม้อทอง ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเอง
นี่แหละชีวิตของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน มันแสนยากลำเค็ญอย่างนี้แล แม้เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ภูทอกนี้ก็เช่นเดียวกัน ยากมาก ลำบากมาก การสร้างภูทอก ทำสะพานต้องเสี่ยงต่อความตายจริง ๆ ทีเดียว ถ้าไม่เป็นผู้กล้าหาญหรือรอบคอบแล้ว มันก็ไม่พ้นอันตราย ต้องเสียชีวิตกันหมด ไม่เหลือเลย
ขอย้อนกล่าวถึงตอนที่มาอยู่ภูทอกเริ่มแรก พ.ศ. 2512 เป็นพรรษาที่ 27 เป็นต้นมา ได้ปรับปรุงสิ่งที่ขัดข้องเป็นลำดับมา ดังที่ได้พากันเห็นอยู่ทุกวันนี้ ต่อมาก็มีผู้มาชมจากที่ต่าง ๆ แทบจะทั่วประเทศไทยก็ว่าได้ ผู้มาเห็นแล้วกลับไปก็โฆษณากันไปเรื่อย ๆ ปากต่อปาก....ต่อ ๆ กันไป จึงมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเวียนกันมาชมไม่ขาดสาย เรื่องใดขัดข้อง ทางวัดก็พยายามจัด ให้สะดวกตามฐานความสามารถ เช่น น้ำไม่สะดวกทางวัดก็ทำทำนบปิดกั้นน้ำไว้หลายแห่ง น้ำใช้น้ำฉันไม่สะดวก ส้วมห้องน้ำไม่เพียงพอ ก็พยายามแก้ไขปรับปรุง เพื่อต้อนรับท่านผู้ไปเยือนและคงจะดำเนินการปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อย ๆ
พ.ศ. 2518 ได้เริ่มปลูกเสนาสนะได้พระไปวิเวกที่น้ำตกสะแนนภูวัว พวกศรัทธาโยมที่มาภูทอกเริ่มนิยมไปชมน้ำตกสะแนน ทางป่าเดินลำบากมากและไกล พ.ศ. 2519 จึงได้ปรับปรุงตัดทางไปน้ำตกสะแนนภูวัว จ้างแทร็กเตอร์มากรุยทาง ให้พระไปคุมการตัดทางอยู่กว่าสองอาทิตย์จึงสำเร็จเป็นทางพอให้รถวิ่งเข้าไปได้ถึงสะพานหินธรรมชาติ สิ้นเงินไปประมาณ 150,000 บาท ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
น้ำตกสะแนนนี้เป็นน้ำตกที่สวยมาก มีถึง 3 ชั้นแต่ละชั้นมีอ่างกว้างใหญ่ หน้าฝน น้ำตกตกเป็นม่านน้ำผืนใหญ่อย่างน่าดูถ้าผ่านหน้าฝนไปแล้วน้ำตกจะมีน้ำน้อยลง แต่ตามพลาญหิน ยังมีภาพโขดหินสวยจับตา สระน้ำเบื้องล่างที่รองรับน้ำตกแต่ละชั้นนั้นมีขนาดกว้างใหญ่ และลึก มีสัตว์น้ำมีปลา มีจระเข้มีหาดทราย ทรายที่น้ำตกบนหลังภูวัวนี้ เม็ดละเอียดสีขาวสะอาดยิ่งกว่าทรายตามชายหาดทะเลอีก เฉพาะที่น้ำตกสะแนนนี้ ได้ขอให้ทางการสงวนเป็นวนอุทยานแห่งชาติ เพื่อสงวนป่าไม้และสัตว์ป่าไว้
ที่ภูวัวยังมีสัตว์ป่าอยู่มาก เช่น ช้าง เสือ กวางหรือเก้ง หมี หมูป่า เลียงผา สัตว์เล็กพวกนก นกยูง กระต่าย กระแต กระรอก ไกป่า ก็ยังมีมาก ถ้าท่านมีโอกาสก็เชิญไปเที่ยวชมดู เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนอารมณ์ หลบเลี่ยงความคลุกคลีวุ่นวายในเมืองกันบ้างเป็นบางครั้งบางคราว โดยที่ภูวัวมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มาก และเป็นเทือกเขายาวเหยียดนับเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ขณะนี้มีสำนักสงฆ์อยู่ 3 แห่งด้วยกัน นอกจากที่สะแนนดังที่กล่าวมาแล้ว แห่งหนึ่งแล้ว ก็มีที่ถ้ำบูชาแห่งหนึ่ง และที่ถ้ำพระอีกแห่งหนึ่ง แต่ละแห่งล้วนแต่เป็นที่สงบสงัด น่าวิเวกและงดงามด้วยธรรมชาติทั้งนั้น
สำนักสงฆ์ถ้ำพระ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระไว้ที่หน้าผา ปรับปรุงมาแต่พ.ศ. 2492 เป็นสถานที่ปลอดโปร่งร่มรื่น มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีธารน้ำตก มีถ้ำ มีพลาญหินอันแผ่กว้าง และมีสัตว์ป่า สัตว์น้ำ สัตว์บก นานาชนิด มีที่วิเวก พักผ่อนหย่อนใจหลายแห่ง
สำนักสงฆ์ถ้ำบูชา ก็เช่นเดียวกับถ้ำพระมีพลาญหินอันกว้างใหญ่ มีธารน้ำตก มีถ้ำ มีซอกเงื้อมเขา สัตว์ป่ายังบริบูรณ์ น้ำบริบูรณ์ตลอดปี มีที่วิเวกบำเพ็ญเพียรมากแห่งได้เริ่มปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2506 และแต่นั้นมาก็ไม่เคยขาดพระ มีพระจำพรรษาอยู่ทุก ๆ ปี
สำนักสงฆ์สะแนนเริ่มปรับปรุงมาตั้งแต่พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา พ.ศ. 2519 ตัดถนนเข้าไปสู่น้ำตกสะแนน ตัดเข้าไปถึงสะพานหินธรรมชาติ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าราวหิน เป็นราวและเป็นสะพานข้ามน้ำสะแนนด้วย ใต้สะพานหินมีถ้ำ และมีลำน้ำไหลลอดใต้สะพานหิน น้ำลึก มีปลาและจระเข้ในถ้ำเหล่านี้ ลำน้ำสะแนนบางตอนเป็นเหวและหุบห้วยโตรกเขาสวยงามมากหน้าฝนน้ำไหลแรงจนแทบจะล้นฝั่งเพื่อความสะดวกแก่ผู้ไปเที่ยวพักผ่อนชมความงามของน้ำตกทางวัดได้สร้างไม้ใหญ่ข้ามน้ำสะแนนจากสะพานไม้ของวัดนี้ต้องเดินเลียบลำน้ำสะแนนไปประมาณ 1-2 กิโลเมตรจึงจะถึงอ่างน้ำตกแห่งแรกระหว่างอ่างน้ำตกแต่ละชั้นเป็นทางเดินผ่านไปในป่าไม้อันร่มรื่นมีผาหินและพลาญหินน่าชมยิ่งเป็นสำนักสงฆ์ที่อยู่ใกล้ภูทอกที่สุดและไปถึงง่ายที่สุดคือห่างเพียง12 กิโลเมตรเท่านั้นถนนดีทางดีตลอด
สำหรับ เขาภูทอกใหญ่ หรือภูแจ่มจำรัส ซึ่งอยู่ติดกับภูทอกน้อย ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร หรือประมาณ 20 เส้นเท่านั้น เป็นที่ซึ่งสวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง มีถ้ำหลายถ้ำมีบ่อน้ำในแอ่งหินขนาดใหญ่อยู่บนหลังเขา ขณะนี้ปรับปรุงให้เป็นสำนักสงฆ์วิปัสสนา มีพระไปจำพรรษาอยู่ 2 พรรษาแล้ว เนื่องจากอยู่ใกล้ภูทอกมาก และถนนที่ตัดใหม่ใช้เป็นคันทำนบกั้นน้ำก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านที่จำพรรษาที่นั่น เวลาเช้าลงมาบิณฑบาตที่หมู่บ้านแล้ว ก็กลับมาฉันรวมกันที่ศาลาโรงฉันภูทอกน้อย ฉันแล้วก็กลับภูทอกใหญ่ ไปทำความเพียรต่อไป ถึงวันพระหรือเวลามีกิจสำคัญก็ลงมาจากที่พักบนเขาภูทอกใหญ่ เดินมาภูทอกน้อย และขึ้นไปฟังธรรมบนเขาภูทอกน้อยสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบสงัด เด็ดเดี่ยว จริงจังต้องไปอยู่ภาวนาทำความพากความเพียรที่นั่นดีนักมีร่มไม้ร่มรื่นดี อากาศสบาย สัตว์ป่ายังมีอยู่มาก ต่อไปถ้ามีโอกาสก็คิดจะทำสะพานรอบภูทอกใหญ่อีก แต่คิดว่าจะทำเพียงชั้นเดียว ชั้นที่มีถ้ำรอบ ๆ เท่านั้น
นี่เป็นแต่คิดโครงการไว้ในอนาคตไกล ถ้าตายแล้วก็แล้วไป ผู้ที่เขายังอยู่ในโลก เขาก็คงจะดำริและก่อสร้างต่อไป